15 กุมภาพันธ์ 2552

ปลาสลิด และ ปลากระดี่


  • ปลาสลิด
  • ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichopodus cantoris (Günther 1861)
  • ชื่อเดิมTrichogaster pectoralis (1910)
  • ชื่อสามัญ: SNAKESKIN GOURAMI
  • อยู่ในวงศ์ปลากัด ปลากระดี่ (Osphronemidae)
มีรูปร่างคล้ายปลากระดี่หม้อ (T. trichopterus) ซึ่งเป็นปลาในสกุลเดียว กัน แต่มีลำตัวที่หนาและยาวกว่า หัวโต ครีบหลังในตัวผู้มีส่วนปลายยื่นยาวเช่นเดียวกับครีบก้น ครีบอกใหญ่ ตาโต ปากเล็กอยู่สุดปลายจะงอยปาก ครีบหางเว้าตื้นปลายมน ตัวมีสีเขียวมะกอกหรือสีน้ำตาลคล้ำ มีแถบยาวตามลำตัวตั้งแต่ข้างแก้มจนถึงกลางลำตัวสีดำ และมีแถบเฉียงสีคล้ำตลอดแนวลำตัวด้านข้างและหัว ครีบมีสีคล้ำ
ขนาดโดยเฉลี่ย 10-16 เซนติเมตร พบขนาดใหญ่สุดถึง 25 เซนติเมตร นับเป็นปลาในสกุล Trichogaster ที่ใหญ่ที่สุด


มีถิ่นอาศัยในแหล่งน้ำนิ่งที่มีพืชน้ำและหญ้ารกริมตลิ่งของภาคกลาง ภาคอีสานและภาคใต้ของประเทศไทย นอกจากนี้ยังพบในประเทศรอบข้าง


พฤติกรรมในการสืบพันธุ์เริ่มขึ้นในระหว่างเดือนเมษายน-สิงหาคม โดยจะวางไข่โดยการก่อหวอดตามผิวน้ำติดกับพืชน้ำหรือวัสดุต่าง ๆ มักวางไข่ในช่วงกลางวันแดดรำไร หลังวางไข่เสร็จแล้วตัวพ่อปลาจะเป็นผู้ดูแลไข่จนฟักเป็นตัว ตัวเมียวางไข่ครั้งละ 4,000-10,000 ฟอง ในการเลี้ยงทางเศรษฐกิจนิยมให้เป็นการผสมพันธุ์หมู่ ตัวผู้จะมีสีและแถบเข้มกว่าตัวเมีย ลักษณะของครีบหลังก็สามารถใช้แยกเพศได้เหมือนกันคือ ตัวผู้จะมีกระโดงหลังยาวกว่าตัวเมีย


ปลาสลิดนับเป็นปลาน้ำจืดเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของไทย นิยมแปรรูปเป็นปลาแห้งหรีอปลาเค็มที่รู้จักกันดี โดยเกษตรกรจะเลี้ยงในบ่อดิน โดยฟันหญ้าให้เป็นปุ๋ยและเกิดแพลงก์ตอนเพื่อเป็นอาหารปลา โดยพื้นที่เลี้ยงปลาสลิดที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ที่เรียกว่า "ปลาสลิดบางบ่อ" นอกจากนี้ยังมีอีกแหล่งหนึ่งที่เคยมีชื่อในอดีต คือที่ ตำบลดอนกำยาน อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

(ขออนุญาติเอารูปน้าผีปลามาลงนะครับ)

มีชื่อเรียกในภาษามาเลย์ว่า "sepat siam" ภาษาอังกฤษเรียกว่า "กระดี่หนังงู" (snakeskin gourami) และมีชื่อเรียกในราชาศัพท์อีกว่า "ปลาใบไม้" ทั้งนี้เนื่องจากคำว่า "สลิด" เพี้ยนมาจากคำว่า "จริต" พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงได้ทรงแนะนำให้เรียกปลาสลิดในหมู่ราชบริพารว่า ปลาใบไม้ เพราะทรงเห็นว่ามีรูปร่างเหมือนใบไม้


ปลาสลิดเป็นปลาเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ได้เป็นกอบเป็นกำ ด้วยการแปรรูปเป็น ปลาสลิดแดดเดียว อีกทั้งยังแปรรูปเป็นอาหารได้หลากหลายรูปแบบเช่น


ทอด


ฉู่ฉี่

*****************************************************



  • ปลากระดี่นาง
  • ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichopodus microlepis (Günther 1861)
  • ชื่อเดิม Trichogaster microlepis (Günther 1861)
  • ชื่อสามัญ, MOONLIGHT GOURAM อยู๋ในวงศ์ปลากัด ปลากระดี่ (Osphronemidae)
มีลำตัวรูปไข่และแบนข้างมาก หลังยกสูงเล็กน้อย ด้านท้ายเรียวเล็ก หัว ตา และปากเล็ก ครีบอกเล็ก ครีบท้องเป็นเส้นยาว ครีบหางเว้าตื้นปลายมน ลำตัวสีเงินนวลเหลือบด้วยสีเขียวและสีฟ้า โดยไม่มีลวดลายใด ๆ ครีบสีจางใส


ขนาดเมื่อโตเต็มที่ยาวเฉลี่ย 7-14 เซนติเมตร เป็นปลาที่พบได้ในแหล่งน้ำในภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคตะวันออกของไทย และยังพบได้ในประเทศอื่นในภูมิภาคอินโดจีนอีกด้วย


มีพฤติกรรมชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง สามารถฮุบอากาศจากผิวน้ำได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านเหงือก เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์จะก่อหวอดผสมกับเศษหญ้าหรือพืชไม้ชนิดต่าง ๆ

(หวอดปลากระดี่นาง ภาพจากสยามเอนซิส)

เป็นปลาที่สามารถใช้บริโภคได้ ในพื้นที่อีสานนิยมบริโภคโดยปรุงสด หรือทำปลาร้า ปลาแห้ง อีกทั้งยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีกด้วย


ด้วยความที่เป็นปลาที่มีสีเงินทั้งลำตัว จึงได้ชื่อในภาษาอังกฤษว่า "กระดี่แสงจันทร์" (Moonlight gourami, Moonbeam gourami) มีชื่อเรียกในภาษาอีสานว่า "กระเดิด" หรือ "สลาก" หรือ "สลาง"

*****************************************************




  • ปลากระดี่หม้อ
  • ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichopodus trichopterus (Pallas 1770)
  • ชื่อเดิม Trichogaster trichopterus (Pallas 1770)
  • ชื่อสามัญ Tree – spot gourami ในวงศ์ปลากัด ปลากระดี่ (อังกฤษ: Osphronemidae)
มีรูปร่างคล้ายปลากระดี่นาง (T. microlepis) ซึ่วเป็นปลาที่อยู่ในสกุลเดียว กัน แต่กระดี่หม้อมีรูปร่างป้อมกว่า ส่วนท้ายไม่เรียวเล็ก หัวเล็ก ตาเล็ก ปากเล็กอยู่ปลายสุดของจะงอยปาก ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย ส่วนหลังยกสูงเล็กน้อย ครีบอกเล็ก ครีบท้องเป็นเส้นยาว ครีบหางเว้าตื้นปลายใน เกล็ดมีขนาดใหญ่ ตัวมีสีเทาอมสีฟ้าหรือสีคล้ำตามแนวพาดขวางหรือพาดเฉียง ตลอดลำตัวด้านข้างหลายแถบรวมถึงที่ข้างแก้มกลางลำตัวด้านข้างและโคนครีบหางมีจุดสีดำขนาดใหญ่แห่งละจุด ครีบก้นมีจุดประสีส้มหรือเหลือง ขอบครีบสีเหลือง ครีบอื่นสีใส ครีบหางใสมีสีประคล้ำ



ขนาดโดยเฉลี่ยมีความยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร พบใหญ่สุดคือ 15 เซนติเมตร


ปลากระดี่หม้อเป็นปลาที่มีสีสันต่างตากหลากหลายกันออกไปตามพันธุกรรมและถิ่นที่อยู่อาศัย จึงมีหลากสีมาก เช่น ปลาที่พบในพื้นที่ภาคใต้จะมีลำตัวสีฟ้าเข้มกว่าปลาที่พบในที่อื่น นอกจากนี้ยังมีที่พบสีออกเหลืองทองหรือออกขาวนวลด้วย แต่ปลาที่พบโดยทั่วไปมักมีลำตัวออกสีน้ำตาลใส


เป็นปลาที่พบได้ในแหล่งน้ำนิ่งทุกภาคของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้ จัดเป็นปลาสกุล Trichogaster ที่พบชุกชุมที่สุด


นิยมบริโภคในท้องถิ่น เช่นเดียวกับปลาสลิด (T. pectoralis) และปลากระดี่นาง นอกจากนี้ยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีกด้วย


มีชื่อเรียกในภาษาอีสานว่า "กระเดิด" หรือ "เดิด" ภาษาเหนือเรียก "สลาก" หรือ "สลาง" ชื่อในภาษาอังกฤษเรียก ว่า "กระดี่สามจุด" (Three spot gourami) หมายถึง จุดดำสองจุดใหญ่ตามลำตัวและนับลูกตาด้วย ชื่อที่นิยมเรียกกันในแวดวงปลาสวยงามคือ "กระดี่นางฟ้า"


หวอดปลากระดี่หม้อ(ภาพจากสยามเอ็นซิส)

*****************************************************





  • ปลากระดี่มุก
  • ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichopodus leerii (Bleeker 1852)
  • ชื่อเดิม Trichogaster leeri(Bleeker 1852)
  • ชื่อสามัญ, Perl Gourami , Leeri Gourami ในวงศ์ปลากัด ปลากระดี่ (Osphronemidae)
มีรูปปร่างคล้ายปลากระดี่หม้อ (T. trichopterus) ซึ่งเป็นปลาที่อยู่ในสกุลเดียว กัน แต่กระดี่มุกมีลำตัวกว้างกว่าเล็กน้อย ครีบหลัง ครีบหาง และครีบก้นมีขนาดใหญ่และมีก้านครีบอ่อนยาวเป็นเส้นริ้ว ลำตัวสีเงินจาง มีแถบสีดำจางพาดยาวไปถึงโคนครีบหาง ท้องมีสีส้มหรือสีจาง และมีจุดกลมสีเงินมุกหรือสีฟ้าเหลือบกระจายไปทั่ว อันเป็นที่มาของชื่อ "กระดี่มุก" ครีบท้องเป็นสีส้มสดหรือสีเหลือง


มีความยาวเต็มที่เฉลี่ย 10-12 เซนติเมตร


มีพฤติกรรมมักอาศัยอยู่เป็นคู่หรือกลุ่มเล็ก ๆ ในแหล่งน้ำที่มีค่าของน้ำมีความเป็นกรดต่ำกว่าค่าของน้ำปกติ (ต่ำกว่า 7.0) เช่น ในป่าพรุ เป็นต้น


เป็นปลาจำพวกปลากระดี่ที่พบในธรรมชาติได้น้อยที่สุดในประเทศไทย โดยจะพบในเฉพาะพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ตอนล่างเท่านั้น


นิยมเลี้ยงเป็นปลาตู้สวยงาม โดยเฉพาะในตู้ไม้น้ำ



หวอดปลากระดี่มุก

*****************************************************
ขอนำเสนอปลาในวงศ์นี้เท่าที่ผมคิดว่าลักษณะใกล้เคียงกันและพบเจอได้ภายในประเทศ อีกทั้งยังสามารถตกได้ ซึ่งจริงๆแล้วปลาในวงศ์นี้มีอีกเยอะที่เราๆรู้จักดีแต่ไม่เคยสนใจครับ

วงศ์ย่อย Belontiinae ได้แก่

  • * สกุลปลาหมอจำปะ (Belontia) พบ 2 ชนิด (Species)

วงศ์ย่อย Luciocephalinae ได้แก่

  • * สกุลปลาพาราไดซ์หางสั้น (Pseudosphromenus) พบ 2 ชนิด
  • * สกุลปลากระดี่(Trichogaster) พบ 5 ชนิด
  • * สกุลปลากระดี่แคระ (Colisa) พบ 3 ชนิด
  • * สกุลปลากระดี่โนเบิล (Ctenops) พบ 1 ชนิด

วงศ์ย่อย Macropodinae ได้แก่

  • * สกุลปลากัด (Betta) พบทั้งหมดราว 52 ชนิด
  • * สกุลปลาพาราไดซ์ (Macropodus) พบ 5 ชนิด
  • * สกุลปลากริมแรด (Parosphromenus) พบ 10 ชนิด
  • * สกุลปลากริม (Trichopsis) พบ 3 ชนิด
  • * สกุลปลาช่อนเข็ม (Luciocephalus) พบ 2 ชนิด
  • * สกุลปลากระดี่ช็อคโกแล็ต (Sphaerichthys) พบ 4 ชนิด

วงศ์ย่อย Osphroneminae ได้แก่

  • * สกุลปลาแรด (Osphronemus) พบ 4 ชนิด

ข้อมูลจากวิกิพิเดีย
รูปภาพจากหลากหลายเวป ขออนุญาติและขอบคุณล่วงหน้าครับ
จ้าวน้อย
*****************************************************

5 ความคิดเห็น:

  1. จะตกก็ตกแต่ปลาสลิดนะครับเนื้ออร่อย ส่วนที่เหลือให้เป็นปลาสวยงามไป

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ13 พฤษภาคม 2553 เวลา 09:07

    อยากรู้เรื่องปลากระดี่นางฟ้าน่ะค่ะ

    ตอบลบ
  3. กระดี่นางฟ้าเมื่อก่อนก็คือปลากระดี่หม้อ แต่ตอนนี้ผมไม่แน่ใจว่าตัวไหน ขอเวลาศึกษาหารายละเอียดก่อนนะครับ หรือไม่ก็ลองดูที่เว็ป www.ninekaow.com/ ครับ

    ตอบลบ
  4. อยากรู้ว่าจะแยกกระดี่นางกับกระดี่หม้อตัวผู้ตัวเมียได้อย่างไร

    ตอบลบ
  5. กระดี่ในเพศผู้มีครีบหลังยาวซึ่งเมื่อกดครีบให้ราบแล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่ามีความยาวเลยโคนหางมากกว่าปลาเพศเมียครับ

    ตอบลบ

.ขอบคุณที่แวะเข้ามาครับ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

เชิญแวะที่:
thainitaห้นย

จ้าวน้อยฟิชชิ่ง ตกปลาฮาเฮ เร่ไปเพราะใจสั่งมา © 2009. Powered by  MyPagerank.Net