02 มีนาคม 2556

หมึกยักษ์แห่งท้องทะเล(Giant squid)



ปลาหมึก ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ปลา แต่ความหมายในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2525 ให้ความหมายว่า “ชื่อสัตว์น้ำไม่มีกระดูกสันหลังที่มีขาซึ่งเรียกว่า หนวดอยู่ที่บริเวณหัว อาศัยอยู่ในทะเล มีถุงบรรจุน้ำสีดำอย่างหมึกสำหรับพ่นเพื่อพรางตัว มีหลายสกุล แต่เมื่อกล่าวถึงสัตว์น้ำชนิดนี้โดยรวมทั่วไปไม่ควรตัดคำเรียกเพียงแค่ “หมึก” เพราะอาจจะทำให้เข้าใจผิดไม่สื่อถึงสัตว์น้ำชนิดนี้ ความหมายอาจกลายเป็นอื่นได้ แต่น่าจะใช้ได้เมื่อมีชนิดของปลาหมึกมาต่อท้ายคำ เช่น “หมึกกล้วย” “หมึกกระดอง” และ “หมึกสาย” เป็นต้น


ในนวนิยายต่างประเทศที่กล่าวถึงสัตว์ร้ายขนาดใหญ่จากท้องทะเลต่างๆ นั้น ได้แต่งให้ปลาหมึกยักษ์เป็นผู้ร้ายอยู่เสมอมาช้านานแล้ว นวนิยายคลาสสิคเรื่องที่มีชื่อเสียงรู้จักกันทั่วโลก และได้สร้างภาพยนตร์ด้วยคือเรื่อง “ใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์” “Twenty Thousand Leagues Under The Sea” ของ Jules Verne ใน ค.ศ. 1870 ซึ่ง Walt Disneys ได้สร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อปี 1954 นอกจากนี้ยังมีเรื่อง “Moby Dick” ของ Herman Melville และยังมีอยู่เรื่อย ๆ อีกหลายเรื่องตลอดมาจนถึง “The Beast” ของ Peter Benchley ที่กล่าวว่าสัตว์ร้ายขนาดใหญ่จากทะเลเป็นพวกปลาหมึกขนาดยาวถึง 100 ฟุต ครอบครองทะเลแถบเบอร์มิวดา กินคนเป็นอาหารกลางวันจำนวนมาก โดยปลาหมึกมักจะถูกกล่าวหา หรือถูกอุปโลกน์เป็นสัตว์ร้ายจากทะเลก็เนื่องมาจากขนาดที่ใหญ่โตที่ได้มีผู้เคยพบเห็น


แต่โดยทั่วไปแล้วปลาหมึกที่มนุษย์ใช้บริโภค จะมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ปลาหมึก จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับหอยเป็นพวก Mollusks แต่ปลาหมึกจัดอยู่ใน Class Cephalopoda ซึ่งมาจากภาษากรีกแปลว่า “สัตว์หัว-เท้า” (head-footed animals) ประกอบด้วยกลุ่มปลาหมึกต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มปลาหมึกกล้วย (Squid) กลุ่มปลาหมึกกระดอง (Cuttlefish) กลุ่มปลาหมึกสาย (Octopus) และหอยงวงช้าง (Nautilus) เป็นต้น


 ปกติปลาหมึกจัดเป็นสัตว์น้ำที่มีการเจริญเติบโตเร็ว อายุสั้น ขนาดจะมีตั้งแต่ขนาดเล็ก 1 เซนติเมตร ได้แก่ ปลาหมึกแคระ ซึ่งชนิดที่พบในประเทศไทยเล็กที่สุดในโลกคือ Idiosepius thailandicus Chotiyaputta, Okutani and Chaitiamvong, 1991 จนถึงขนาดใหญ่ 20 เมตร คือ Architeuthis spp. (Giant squid) ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มปลาหมึก รวมทั้งในบรรดาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง


 สำหรับกลุ่ม Squid จะมีลักษณะภายนอกประกอบด้วยส่วนสำคัญ 6 ประการคือ

  • 1. ลำตัว (mantle) ทรงกระบอกยาว มีอวัยวะอยู่ภายใน 
  • 2. หัวสั้น มีตาขนาดใหญ่ 
  • 3. แขน (arm) 8 อัน ประกอบด้วยปุ่มดูด (suckers) หรือตะขอ (hooks) 
  • 4. ปาก ล้อมรอบด้วยแขน ประกอบด้วยจะงอยปากที่แข็งแรง (beak) 
  • 5. หนวดจับ (tentacle) ยาว 1 คู่ ส่วนปลายมีปุ่มดูด 
  • 6. ท่อน้ำ (funnel) ออกจากลำตัวอยู่ใต้ส่วนหัว 

 ปลาหมึกยักษ์ Giant squid จัดอยู่ใน Family Architeuthidae Pfeffer, 1900 มีเพียง Genus เดียว คือ Architeuthis Steenstrup, 1856  โดยมีขนาดใหญ่ที่สุดถึงประมาณ 20 เมตร (overall length) น้ำหนักประมาณ 500 กิโลกรัม ที่พบส่วนใหญ่มีขนาด 10-15 เมตร ปุ่มดูด (sucker) บนแขนมีขนาดเฉลี่ยประมาณ 2.5 เซนติเมตร ซึ่งปุ่มดูดอันใหญ่ที่สุดบนหนวดจับมีขนาดถึง 5-5.5 เซนติเมตร



ปลาหมึกยักษ์นี้มักพบในลักษณะที่ตายแล้วถูกซัดเกยฝั่ง หรือพบชิ้นส่วนในท้องปลาวาฬพวก Sperm whale และจากอวนลากน้ำลึก สำหรับการแพร่กระจาย พบทั่วไปรอบโลกคือ บริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ได้แก่ บริเวณประเทศนอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ เดนมาร์ก จากลาบราดอร์ถึงอ่าวเม็กซิโกในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือจากทะเลแบริงถึงญี่ปุ่น ฮาวาย แคลิฟอร์เนีย สำหรับทางมหาสมุทรซีกโลกใต้ พบบริเวณอาร์เจนตินา แอฟริกาใต้ ทาสมาเนีย และนิวซีแลนด์ จะอยู่ในน้ำลึก 200-1,000 เมตร การดำรงชีพจัดเป็นแบบกึ่งผิวน้ำและกลางน้ำ (Epipelagic and Mesopelagic)



ความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับปลาหมึกยักษ์นี้จะได้จากการศึกษาชิ้นส่วนซากของมันที่พบ หรือจากปลาวาฬที่กินมันเป็นอาหาร และอื่น ๆ โดยนักวิจัยต่าง ๆ ได้เริ่มดำเนินการศึกษาอย่างจริงจังเมื่อประมาณ 20 ปีมานี้เอง ลักษณะทั่วไป สีของปลาหมึกยักษ์ Architeuthis นี้มีสีแดงแก่จนถึงน้ำตาลแดง จากเซลล์เม็ดสี (chromatophore) ที่ผิวหนัง มันมีความสามารถในการเปลี่ยนสีลำตัว เกิดจากการบังคับด้วยกล้ามเนื้อ การที่ตัวมีสีแดงจะช่วยให้มันสามารถพรางตัวได้ดีในที่ลึก เพราะสีแดงในที่ลึกมากจะเปรียบเสมือนสีดำในเวลากลางคืนบนบกนั่นเอง


ในกล้ามเนื้อลำตัว หัว และแขนของปลาหมึกยักษ์นี้ประกอบด้วยแอมโมเนียมอิออนสูงมาก (NH4+) จึงทำให้สามารถลอยตัวได้ดี แม้แต่เมื่อตายแล้ว จึงเป็นเหตุให้ซากของมันลอยมาได้ไกลจนเกยฝั่ง และยังเป็นตัวการสำคัญทำให้เนื้อของมันมีรสขมของแอมโมเนีย โดยในเนื้อมีความถ่วงจำเพาะ (specific gravity) ซึ่งต่ำกว่าน้ำทะเล ที่ความลึก 50 เมตร อุณหภูมิ 80 ?C ที่มีความถ่วงจำเพาะ 1.022 ถ้าไม่มีแอมโมเนียเนื้อของปลาจะหนักกว่าน้ำทะเล เพราะมีความถ่วงจำเพาะ 1.046 ดังนั้นแอมโมเนียในเนื้อช่วยทำให้ปลาหมึกยักษ์สามารถลอยตัวได้ไม่ต้องใช้พลังงานเพื่อการว่ายน้ำ


 ครีบ ของมันมีขนาดเล็กไม่แข็งแรงนักใช้ช่วยในการว่ายน้ำและเป็นเสมือนหางเสือ ปกติการเคลื่อนที่จะใช้ระบบพุ่งเพื่อขับดัน (Jet propulsion) เพื่อจับเหยื่อหรือหนีศัตรู โดยนำน้ำเข้าภายในลำตัว (mantle) แล้วใช้การปิดล็อกส่วนท่อน้ำกับลำตัวบีบดันน้ำให้ออกทางท่อน้ำให้เกิดการพุ่งตัว ซึ่งส่วนของตัวล็อกท่อน้ำกับลำตัวมีความแข็งแรงมาก หัว มีขนาดใหญ่ถึง 1 เมตร มีแขนเป็นระยางค์ 8 แขน รอบโคนแขน (arm) 50 เซนติเมตร ยาว 3-5 เมตร


หนวดจับ (tentacle) 2 เส้น มีเส้นรอบวง 25 เซนติเมตร ยาว 10-12 เมตร  ตา(Cornea) จะอยู่ด้านข้างของหัวประกอบด้วยเลนส์เดี่ยวที่สามารถปรับได้ (adjustable lens) คล้ายกับของคน มีรูม่านตาและม่านตา (dark iris, pupil) แต่ไม่มีแก้วตา เทียบเท่าประมาณขนาดหัวของมนุษย์ ซึ่งทำให้มันสามารถเห็นได้ดีในที่ลึกที่มีแสงน้อย เพราะใต้ทะเลลึก 500 ฟุต จะมืดสนิท จะมีเพียงแสงที่เรืองจากสิ่งมีชีวิต (Bioluminescense)


 ปาก ล้อมรอบด้วยแขน ประกอบด้วยขากรรไกรที่แข็งแรง จะงอยปาก (beak) มีขนาดใหญ่ถึง 15 เซนติเมตร ประกอบด้วย upper and lower mandibles มี radula or rasping tongue ขนาดเล็ก เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนกับขนาดตัว คือมีความยาว 100 มิลลิเมตร กว้าง 10 มิลลิเมตร เมื่ออาหารถูกกัดกินแล้วจะถูกบังคับลงไปสู่ buccal cavity โดยการขยับของ radula อาหาร ของมันได้แก่ ปลาน้ำลึก ปลาหมึกขนาดใหญ่


แต่สำหรับตัวมันเป็นอาหารของปลาวาฬพวก sperm whale โดยพบมากในกระเพาะปลาวาฬปนกับปลาหมึกชนิดอื่น ๆ (octopuses and squids) รวมทั้ง crustaceans ในการกินอาหารจะใช้หนวดจับ (tentacular club) จับอาหาร


 ถุงน้ำหมึก (ink sac) มีขนาดยาวใหญ่พ่นผ่านท่อน้ำ เมื่อมันพุ่งตัวถอยหลัง ปล่อยหมึกออกมาให้เหยื่องุนงง หรือเพื่อพรางตัวหนีศัตรู

ชีววิทยาการสืบพันธุ์ 


 เพศเมีย สามารถมีไข่ได้จำนวนมาก ไข่มีขนาดเล็ก 0.5-1.4 มิลลิเมตร กว้าง 0.3-0.7 มิลลิเมตร พบตัวอย่างที่มีไข่หนักถึง 5 กิโลกรัม มีไข่ประมาณ ถึงล้านฟอง ระบบสืบพันธุ์มีรังไข่เดี่ยวอยู่ด้านท้าย อวัยวะภายในมีท่อนำไข่ 1 คู่ มีอวัยวะสร้างเปลือกไข่ที่เรียกว่า nidamental gland ขนาดใหญ่ 1 คู่ เข้าใจว่าการผสมพันธุ์ (fertilization) เกิดเมื่อไข่แก่ผ่านท่อนำไข่ (oviduct) และเชื่อว่าไข่ที่ผสมแล้วน่าจะลอยเป็นแพในมหาสมุทร (float in huge gelatinous masses) เพราะเป็นลักษณะของปลาหมึกน้ำลึก (oceanic squids) ปกติปลาหมึกกล้วยชนิดอื่นจะมีที่เก็บสเปอร์อยู่ใต้ปาก (spermatophores receptacle) แต่ไม่พบใน Architeuthis นอกจากนี้ยังไม่พบ spermatophores ฝังในตัวเมีย ซึ่งปกติในพวก oceanic squids จะพบการฝังตัวแถวช่องในลำตัวใกล้ช่องเปิด



 เพศผู้ มีแขนที่เปลี่ยนไปเป็นอวัยวะช่วยในการสืบพันธุ์ 2 แขน (hectocotylized arms) ขนาดของ spermatophores 10-20 เซนติเมตร อายุ จากขนาดที่ใหญ่โตมาก ทำให้คาดว่ามันน่าจะมีอายุยืนยาว ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่ามันน่าจะเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยใน 3 ปี หรือน้อยกว่านั้น อายุขัยประมาณ 5 ปี และต้องการอาหารจำนวนมากเพื่อการเจริญเติบโต ดังนั้นเรียกได้ว่าเป็น “efficient eating machine” เลือด ปลาหมึกจัดเป็นพวกเลือดสีน้ำเงิน (blue blood) ประกอบด้วย Hemocyanin (hemo = blood, cyan = blue) เพื่อนำออกซิเจนเข้าสู่ระบบหมุนเวียนของร่างกาย


 จำนวน ประชากรในโลกคาดว่าน่าจะมีเป็นล้านเพราะถึงแม้เราพบได้ค่อนข้างยาก แต่ในกระเพาะของปลาวาฬสเปิร์ม (Sperm whale) ที่พบกินปลาหมึกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะปลาหมึกน้ำลึก พบจะงอยปากที่ไม่ย่อยทำให้สามารถแยกชนิดได้มีเป็นร้อยชนิด และพบปลาหมึกยักษ์ในท้องเป็นประจำ ได้มีการประเมินประชากรของปลาวาฬไว้ถึงประมาณ 400,000 ตัว ทำให้คาดประมาณจำนวนปลาหมึกยักษ์ว่าน่าจะมีมากกว่า และน่าจะเป็นที่อยู่เดียวกันในน้ำลึก


นอกจากนี้ยังมีหลักฐานยืนยันจากตัวอย่างที่ได้จากอวนลากน้ำลึกที่ทำการประมงปลา orange roughy, hokie และ scampi บริเวณทางใต้ของประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ พบปลาหมึกยักษ์ติดอวนขึ้นมาบางคราว มีการศึกษาคาดว่าน้ำหนักของปลาหมึกที่ถูกกินโดย Sperm Whale ในแต่ละปี จะประมาณเท่ากับน้ำหนักของประชากรทั้งโลกรวมกัน


จากตัวอย่างที่นักวิทยาศาสตร์พบทั่วโลกและนำมาวิจัย ได้มีการจำแนกไว้ประมาณ 19 ชนิด แต่นักอนุกรมวิธานปลาหมึก (Teuthologists) ได้มีการสรุปไว้ 3 ชนิดคือ
A. dux อยู่บริเวณมหาสมุทรแอตแลนติก
A. japonica มหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ และ
A. sanctipauli มหาสมุทรซีกโลกใต้ (Roper, 1999)
 แต่ Nesis (1987) กล่าวว่ามีความเป็นไปได้ว่าทั้ง 3 ชนิด ยังอาจเป็นชนิดเดียวกันแต่เป็นสายพันธุ์ย่อย (Geographical subspecies) เป็น A. dux dux, A. dux martensi, A. dux sanctipauli แต่จนบัดนี้ยังไม่มีใครได้พบปลาหมึกยักษ์ชนิดนี้ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ความรู้เกี่ยวกับปลาหมึกยักษ์ชนิดนี้จึงยังมีน้อย ได้มาจากตัวอย่างที่ตายเท่านั้น ยังคงเป็นปริศนาลึกลับที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการศึกษาว่ามันอาศัยอยู่ที่ไหน ดำรงชีพอย่างไร


ทำให้นักชีววิทยาทางทะเลหลายคนสนใจติดตามศึกษาโดยเฉพาะ Dr.Clyde F.E. Roper จากสถาบันวิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยา สมิทโซเนียนต้องการติดตามศึกษาเพื่อให้ได้คำตอบ โดยพยายามที่จะสำรวจใต้ทะเลลึกเพื่อค้นพบปลาหมึกยักษ์นี้ จากการที่รู้ว่าปลาวาฬสเปิร์ม (Sperm whale) กินปลาหมึกยักษ์เป็นอาหารประจำ ดังนั้นถิ่นที่อยู่อาศัยควรจะเป็นแหล่งเดียวกัน จึงหาวิธีติดตามจากปลาวาฬ มีการนำกล้องวีดิโอใต้น้ำเรียก “crittercam” ติดที่หัวปลาวาฬตัวเมียหลายตัว ทำการสำรวจแถบหมู่เกาะ Azores มหาสมุทรแอตแลนติกในปี 2539 แม้ไม่พบปลาหมึกยักษ์ แต่พวกเขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับการกินอาหาร การอยู่อาศัยและเรื่องอื่น ๆ อีกมากมายเกี่ยวกับปลาวาฬ


 ต่อมาในปี 2540 ได้มีการสำรวจโดยใช้เรือลำน้ำจิ๋ว Auto-nomous Underwater Vehicle (AUV) ซึ่งประดิษฐ์โดยคณะจาก Massachusetts Institute of Technology ชื่อ “Odyssey” สำรวจนอกฝั่งแถบนิวซีแลนด์ ลึก 750 เมตร แต่ก็ไม่พบปลาหมึกยักษ์เลย ในปี 2542 จึงมีการนำห้องปฏิบัติการใต้น้ำ (Deep Sea Submersible) ที่มีคนลงไปได้ชื่อ “Deep Rover” สำรวจบริเวณ Kaikoura Canyon นอกฝั่งแถบนิวซีแลนด์ได้พบสัตว์น่าสนใจอื่น ๆ แต่ไม่พบ Architeuthis เช่นเคย ดังนั้นปลาหมึกยักษ์ (Giant Squid-Architeuthis) ยังคงความเป็นสัตว์ลึกลับสำหรับเราอยู่ นักวิทยาศาสตร์ยังคงเฝ้าติดตามค้นหาและศึกษาจนกว่าจะได้พบขณะที่ยังมีชีวิต เพื่อไขปริศนาต่าง ๆ เกี่ยวกับมันต่อไปอีก


 นอกจาก Architeuthis แล้ว ยังมีปลาหมึกที่มีขนาดใหญ่มาก ถูกเรียกเป็นปลาหมึกยักษ์อีกชนิดหนึ่งอยู่ใน Family Ommastrephidae คือ Genus Dosidiscus Steenstrup, 1857 มีชนิดเดียวคือ Dosidiscus gigas (Orbigny, 1835) Flying jumbo squid โดยขนาดใหญ่สุดที่พบมีขนาดความยาวลำตัว (Mantle length) 1.5 เมตร (ความยาวทั้งหมด 4 เมตร) แต่ส่วนใหญ่ที่พบมีขนาด 50-80 เซนติเมตร น้ำหนัก 2-3 กิโลกรัม มีการแพร่กระจายอยู่ทั้งใกล้ฝั่งและในมหาสมุทร (Neritic and Oceanic) แถบประเทศเปรู และชิลี ดำรงชีพเป็นแบบกึ่งผิงน้ำและกลางน้ำ (epipelagic และ mesopelagic)


อายุขัยของปลาหมึกชนิดนี้ประมาณ 1 ปี และมีอัตราการตายสูงมากหลังการวางไข่ ปลาหมึกชนิดนี้มีความสำคัญทางการประมง ถูกจับด้วยเครื่องมือเบ็ดตกโดยใช้แสงไฟล่อเนื้อนำมาใช้เป็นเหยื่อตกปลา ถ้าสำหรับการบริโภคใช้ตากแห้ง และบรรจุกระป๋อง

 สำหรับหมึกสาย หรือที่เราเรียกหมึกยักษ์นั้นมีชนิดที่จัดว่าเป็นปลาหมึกยักษ์ได้คือ 



Octopus cyaneus Gray, 1849 ขนาดใหญ่สุด (total length) 120 เซนติเมตร หนัก 4 กิโลกรัม มีการแพร่กระจายแถบอินโดแปซิฟิก



Octopus macropus Risso, 1826 ขนาดใหญ่สุด (total length) 120-150 เซนติเมตร (ทั่ว ๆ ไป 60 เซนติเมตร) หนัก 2 กิโลกรัม มีการแพร่กระจายทั่วโลกแถบอบอุ่นค่อนข้างหนาว


Octopus maya Voss & Solis, 1966 ขนาดใหญ่สุด (total length) 130 เซนติเมตร หนัก 5 กิโลกรัม มีการแพร่กระจายแถบประเทศเม็กซิโก ด้านมหาสมุทราแอตแลนติก


Octopus vulgaris Cuvier, 1797 ขนาดใหญ่สุด (total length) ตัวเมีย 120 เซนติเมตร ตัวผู้ 130 เซนติเมตร หนัก 10 กิโลกรัม มีการแพร่กระจายทั่วโลกเขตร้อนและหนาว มีความสำคัญยิ่งในทางการประมง


กราบขอบพระคุณที่มาข้อมูลดีๆครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

.ขอบคุณที่แวะเข้ามาครับ

เชิญแวะที่:
thainitaห้นย

จ้าวน้อยฟิชชิ่ง ตกปลาฮาเฮ เร่ไปเพราะใจสั่งมา © 2009. Powered by  MyPagerank.Net