24 พฤศจิกายน 2551

วงศ์ปลากราย(Notopteridae)


  • วงศ์ปลากราย (ภาษาอังกฤษ Notopteridae)
เป็นปลาที่อยู่ในอันดับ (Order) Osteoglossiformes คือ ปลาที่มีกระดูกแข็งบริเวณส่วนหัวและลิ้น พบตั้งแต่ทวีปแอฟริกา, เอเชียใต้จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีทั้งสิ้น 4 สกุล (Genus) 8 ชนิด (Species) ปลาในอันดับนี้ เช่น ปลาตะพัดเป็นต้น พบในประเทศไทย 4 ชนิด คือ ปลากราย, ปลาตองลาย, ปลาสะตือ และปลาสลาด โดยในไทยมักจะเรียกปลาทั้ง 4 ชนิดนี้ว่า ปลาตอง รวมกันหมด เป็นปลาน้ำจืด มีรูปร่างแบนด้านข้างมาก และเรียวไปทางด้านท้าย ครีบหลังเล็ก ครีบก้นและครีบหางยาวติดกัน จึงใช้ครีบก้นที่ยาวติดกันนี้โบกพริ้วในเวลาว่ายน้ำ ครีบท้องมีขนาดเล็กมาก ปากกว้าง เกล็ดเป็นแบบขอบบางเรียบ (Cycloid) และมีขนาดเล็กละเอียด กินเนื้อ เมื่อวางไข่ตัวผู้และตัวเมียช่วยกันดูแลไข่ ไข่เป็นก้อนสีขาวทึบ ติดเป็นกลุ่มกับวัสดุใต้น้ำเช่นตอไม้หรือเสาสะพาน

++++++++++++++++++++++++++++++++




  • ปลากราย
  • ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Chitala ornata (เดิม Notopterus chitala)
อยู่ในวงศ์ปลากราย (Notopteridae) มีปากกว้างมาก มุมปากอยู่เลยขอบหลังลูกตา ในตัวเต็มวัยส่วนหน้าผากจะหักโค้ง ส่วนหลังโก่งสูง ในปลาวัยอ่อนมีสีเป็นลายเสือคล้ายปลาสลาด แต่จะเปลี่ยนเป็นสีเทาเงินและมีจุดกลมใหญ่สีดำขอบขาวที่ฐานครีบก้นตั้งแต่ 3 - 20 ดวง ซึ่งมีจำนวนและขนาดแตกต่างกันออกไปในแต่ละตัว มีขนาดโดยเฉลี่ย 60 ซ.ม. ใหญ่สุดที่พบคือ 1 เมตร หนัดถึง 15 ก.ก.



มักอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีกิ่งไม้ใต้น้ำหรือพืชน้ำค่อนข้างหนาแน่น อยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก อาหารได้แก่ ปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็กพบในแหล่งน้ำทั้งแหล่งน้ำนิ่งและแม่น้ำทั่วประเทศไทย แต่ปัจจุบันพบน้อยลงมาก ปลากรายนับเป็นปลาน้ำจืดอีกชนิดหนึ่งที่คนไทยนิยมบริโภค โดยเฉพาะใช้เป็นวัตถุดิบผลิตทอดมันหรือลูกชิ้น ราคาขายในตลาดจึงสูง ส่วนบริเวณเชิงครีบก้น เรียกว่าเชิงปลากราย ก็เป็นส่วนที่นิยมรับประทานโดยนำมาทอด แม้ว่าเนื้อจะมีก้างมาก แต่ก็เป็นที่นิยมเพราะมีรสชาติอร่อย นอกจากใช้เป็นอาหารแล้ว ยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจ เช่น เลี้ยงในท้องร่องสวน

และนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย ที่เลี้ยง ง่าย อดทน และจะมีราคาแพงยิ่งขึ้นในตัวที่จุดเยอะ หรือตัวที่สีกลายเป็นสีเผือก (Albino) หรือสีทอง ขาว (Platinum) หรือในตัวที่เป็นปลาพิการ ลำตัวสั้นกว่าปกติ (Short Body) มีชื่อเรียกอื่น เช่น " หางแพน " ในภาษากลาง " ตอง " ในภาษาอีสาน " ตองดาว " ในภาษาเหนือ เป็นต้น
++++++++++++++++++++++++++++++++



  • ปลาตองลาย
  • ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Chitala blanci (เดิม Notopterus blanci)
อยู่ในวงศ์ปลากราย (Notopteridae) มีรูปร่างเหมือนปลาทั่วไปในวงศ์นี้ แต่มีส่วนหลังและหน้าผากลาดชันน้อยกว่าปลากราย สีลำตัวเป็นสีเงินแวววาว ลำตัวด้านท้ายมีลายจุดและขีดจำนวนไม่แน่นอนคาดเฉียงค่อนข้างเป็นระเบียบ มีขนาดประมาณ 60 ซ.ม. ใหญ่สุด 1 เมตร



พบเฉพาะแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาที่ไหลสู่แม่น้ำโขง โดยมีรายงานพบเมื่อปี พ.ศ. 2510 และมีรายงานพบที่แม่น้ำน่านด้วยเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งถือว่าเป็นมีแค่เพียงสองแหล่งนี้ในโลกเท่านั้น

เป็นปลาที่หายากชนิดหนึ่ง แต่ปัจจุบันสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้ว นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม

++++++++++++++++++++++++++++++++


  • ปลาสะตือ
  • ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Chitala lopis (เดิม Notopterus borneensis)
อยู่ในวงศ์ปลากราย (Notopteridae) มีรูปร่างคล้ายปลากราย แต่ท้ายทอยเว้าลึกและลำตัวมีเกล็ดละเอียดกว่า โคนครีบอกมีแต้มคล้ำ และข้างลำตัวมีจุดประสีคล้ำเล็ก ๆ มีขนาดลำตัวประมาณ 60 ซ.ม. พบใหญ่สุดได้ถึง 1.5 เมตร นับเป็นปลาชนิด (Species) ที่ใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้

นับเป็นปลาที่หายากอีกชนิดหนึ่ง ในประเทศไทยพบอาศัยเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น คือ แม่น้ำตาปี แม่น้ำโขง พบน้อยที่แม่น้ำเจ้าพระยาและสาขา ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย บอร์เนียว โดยอาหารได้แก่ สัตว์น้ำขนาดเล็ก ปัจจุบันสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้ว นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม


มีชื่อเรียกอื่นอีก เช่น " ตองเเหล่ " ในภาษาอีสาน " สือ " ในภาษาใต้ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า " ตือ " เป็นต้น

++++++++++++++++++++++++++++++++


  • ปลาสลาด
  • ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Notopterus notopterus
อยู่ในวงศ์ปลากราย (Notopteridae) มีปากกว้างไม่เกินลูกตาเหมือนปลาในวงศ์นี้ชนิดอื่น ๆ พื้นลำตัวมีสีเรียบ ยกเว้นปลาวัยอ่อนจะมีลายบั้งเหมือนปลากรายวัยอ่อน มีขนาดประมาณ 20 - 30 ซ.ม.


จัดเป็นปลาที่เล็กที่สุดในสกุลนี้ (Genus) พบในแม่น้ำและแหล่งน้ำนิ่งทั่วประเทศไทย เป็นปลาที่หาง่าย มักอยู่รวมเป็นฝูงใหญ่ อาหารได้แก่ ลูกกุ้ง ลูกปลา สัตว์น้ำขนาดเล็ก เป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง และนิยมนำเนื้อไปทำทอดมันแทน เนื้อปลากรายซึ่งมีราคาแพงกว่าได้

นอกจากนี้ยังแปรรูปเป็นอาหารอื่น ๆ ได้อีก เช่น ลูกชิ้นสับนก หรือรมควัน เป็นต้น และยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีก โดยเฉพาะปลาที่กลายสีเป็นสีเผือก (Albino)


ปลาสลาด ยังมีชื่อเรียกอย่างอื่นอีก เช่น " ตอง " " ฉลาด " หรือ " ตองนา " เป็นต้น

++++++++++++++++++++++++++++++++


11 ความคิดเห็น:

  1. สกุล Notopteridae.


    Chitala blanci (d'Aubenton 1965).
    Chitala borneensis (Bleeker 1851).
    Chitala chitala (Hamilton 1822).
    Chitala hypselonotus (Bleeker 1852).
    Chitala lopis (Bleeker 1851).
    Chitala ornata (Gray 1831).

    Papyrocranus afer (Günther 1868).
    Papyrocranus congoensis (Nichols & La Monte 1932).
    Xenomystus nigri (Günther 1868).

    Notopterus notopterus (Pallas 1769).
    โอเคน่ะครับน้า อิ อิ อิ

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณน้าเซียวลี้ปวยตอสำหรับข้อมูลมากนะครับ ขอบคุณจริงๆครับ

    ตอบลบ
  3. ด้วยความยินดีครับ ได้เบอร์แล้วเดี๋ยวจะโทรไปคุยด้วย.

    ตอบลบ
  4. เห็นน้าชอบ เลยเอาที่เก็บไว้มาให้ จริงๆที่ไม่อยากโพสท์อะไรมาก เพราะถ้าน้ารู้ว่าบางคนเขาอาจทนไม่ได้ที่คนอื่นนอกเหนือจากเว็บที่เขาเล่น บางครั้งอาจจะรู้มากกว่าเขาในบางชนิด นี่พูดจริงๆนะครับ มีอีกหลายเรื่องนัก ถ้าน้ารู้น้าอาจจะชอบหรือหมดความนับถือก็ได้เพราะคนวงในรู้กันดี บังเอิญผมแอบไปฟังมา แหะ แหะ แหะ

    ตอบลบ
  5. ลองดูภาพใน http://www.siamensis.org/board/9857.html
    ภาพตรงนี้เขาเคยถามผมแล้วไปถามหมีต่อ. ตอนนั้นไม่คิดถึงตัวที่นอกเหนือจากที่เรารู้จักเลยครับ พอมาดูรายละเอียดในหนังสือ จึงเอะใจ ลองดูรายละเอียดต่อจากนี้น่ะครับ
    อันนี้เป็นรายละเอียดของ Chitala borneensis (Bleeker 1851)

    1)Upper profile of the head distinctly concave; the maxillary extends to below the posterior half of the orbit,The bonees of the lower side of the head finelyserrated.Coloration uniform,or with small,round,blackish spots on and above the anal fin......C.borneensis

    2)juvenile with scatterd small blotches , becoming organised into oblique rows or stripes in adults;adults problably never plain.....C.borneensis

    3) Malay Peninsula,Central Thailand,Lower Mekong;juvenile with a few small scattered blotches on body,adults plain with a black spot at pectoral base.......Chitala sp.

    น้าลองดูครับ.

    ตอบลบ
  6. ขอบคุณครับน้าจิรชัยครับ น่าสนใจจริงๆครับ เสียดายที่รูปในสยามฟิชชิ่งโดนลบไปแล้ว แล้วในแม่น้ำโขงจะมีโกาสเจอมั้ยครับ อยากกลับบ้านไปถ่ายรูปปลาตามตลาดลาวจริงเผื่อฟลุ้กเจอ แล้วปลาในรูปนั้นก็คือ Chitala borneensis ใช่มั้ยครับน้า

    ตอบลบ
  7. ผมไม่กล้าconfirm.เต็มร้อยครับ ลองมาดูว่าข้อขัดแย้ง คือ อะไร?
    1) ถ้าเทียบตามคำบรรยายก็มีความน่าจะเป็นอยู่ระหว่า C.borneensis. กับ C.sp.

    2) ข้อแย้งคือ C.borneensis กระจายในอินโดนีเซีย แต่ถ้าเป็น C.sp.จะสามารถกระจายได้ในวงกว้างกว่า

    ภาษาอังกฤษข้อที่1 ผมคัดจากบทความใน Catalogue of the fishes in British Museum.เล่มที่ึ 7 เขียนโดยอาจารย์กุนเธอร์ ในปี พ.ศ.2411
    ในขณะที่ข้อ 2-3 เขียนโดยอาจารย์ Kottelat กับอาจารย์ Widjanarti. ในปี2005 เป็นการบรรยายปลาน้ำจืดที่พบในแม่น้ำคาเพาวส์ บทความนี้มีภาพตัวอย่างปลา C.borneensis มีจุดที่ครีบก้นและปลายลำตัวให้เห็นด้วย.

    ตอบลบ
  8. ผมได้รับ mail จากท่านอาจารย์ Kottelat. แล้ว ท่านว่ามีความคล้ายคลึงเล็กๆไปทางChitala borneensis. แต่ถ้าให้ท่านฟันธงจริงๆ ท่านอยากเห็นรูปปลาขนาดเล็กหรือไม่ก็ส่งตัวอย่างไปให้ท่าน ทั้ง 2 อันนี้คงอยากเลยล่ะครับ. นอกจากนี้ท่านว่าแถบสุราษฏ์เป็นไปได้ว่าเป็น Chitala sp. มากกว่าอย่างอื่นครับ เพราะนานมากแล้วที่ท่านมาเมืองไทยที่นี่ ท่านก็เคยเจอตัวอย่างนึงมาแล้วครับ.

    ตอบลบ
  9. ครับผม..ขอบคุณน้าจิรชัยที่อัพเดทข้อมูลให้ผมเรื่อยๆครับ

    ตอบลบ
  10. อยากได้ข้อมูลปลากรายอินเดียอาาคร่ะ.....ใครรุช่วยบอกที

    ตอบลบ
  11. รายละเอียดเบื้องต้นดูที่
    http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A2

    ถ้าข้อมูลแบบละอียดผมไม่ทราบเช่นกันครับ หรือลองเข้าไปสอบถามที่
    http://www.siamensis.org/webboard.html มีท่านผู้รู้อยู่เยอะเลยครับ
    ขอให้โชคดีนะครับ

    ตอบลบ

.ขอบคุณที่แวะเข้ามาครับ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

เชิญแวะที่:
thainitaห้นย

จ้าวน้อยฟิชชิ่ง ตกปลาฮาเฮ เร่ไปเพราะใจสั่งมา © 2009. Powered by  MyPagerank.Net