23 ธันวาคม 2551

วงศ์ปลาแค้(Sisoridae)




วงศ์ปลาแค้ (Sisoridae)

เป็นปลาหนังหรือปลาไม่มีเกล็ดวงศ์หนึ่ง  ในอันดับปลาหนัง ที่แตกต่างจากวงศ์อื่นคือ ส่วนหัวโต ปากกว้างมากและอยู่ด้านล่าง ผิวหนังบนหัวและตัวไม่เรียบ อาจสากหรือเป็นตุ่มนิ่มเล็กๆ บนหัวมีสันตื้นๆ ไปถึงด้านหลัง ครีบไขมันมีขนาดเล็ก มีหนวด 4 คู่ หนวดที่ริมฝีปากเป็นเส้นแบนและแข็ง หนวดที่จมูกสั้น หนวดใต้คางยาว ส่วนมากที่ครีบหลังและครีบอกมีก้านแข็งแหลมคม ครีบท้องใหญ่ ครีบก้นเล็ก ครีบหางเว้าลึก


ในบางสกุล (Genus) เช่น Glyptopthorax มีแผ่นหนังย่นใต้อกซึ่งใช้เกาะพื้นหินได้


กินเนื้อ ตั้งแต่สัตว์หน้าดินจนถึงปลาขนาดเล็กกว่าอาศัยบริเวณพื้นน้ำ โดยหันหน้าทวนกระแสน้ำ ชอบสภาพแวดล้อมพื้นทราย น้ำสะอาดใส มีออกซิเจนสูง มีการกระจายพันธุ์เฉพาะเขตร้อนของทวีปเอเชีย พบมากกว่า 50 ชนิดพบในประเทศไทยประมาณ 17 ชนิดมีขนาดแตกต่างออกไปตั้งแต่ตั้งแต่ความยาวเพียง5ซม. คือ ปลาแค้ขี้หมู (Erethistes maesotensis)ที่พบเฉพาะลุ่มแม่น้ำสาละวินไปจนถึงปลาแค้ยักษ์ (Bagarius yarrelli) ขนาดถึง 2 เมตรโดยชนิดที่พบบ่อยคือ แค้วัว (Bagarius bagarius) หรือแค้ธรรมดา กับ แค้ยักษ์

++++++++++++++++++++++++++++


ปลาแค้วัว

ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bagarius bagarius อยู่ในวงศ์ปลาแค้ (Sisoridae) มีลักษณะหัวแบนราบมีด้านบนโค้งและด้านล่างเรียบ จะงอยปากยื่นยาว มองจากด้านบนจะโค้ง หนวดเป็นเส้นแข็งมีผังผืดที่ริมฝีปาก ตาเล็กอยู่ด้านบนของหัว มีลักษณะคล้ายตาของงูหรือจระเข้ คือ มีม่านตาดำเล็กเป็นช่องแนวตั้ง ปากกว้างมากมีฟันเป็นเขี้ยวแหลมคมอย่างสัตว์ดุร้าย

ส่วนหลังยกสูง ลำตัวแบนราบเล็กน้อย ครีบหลังยกสูงมีก้านครีบแข็งแหลมคมเช่นเดียวกับครีบอก ที่ปลายครีบอก ครีบท้อง ครีบหลัง มีลักษณะเป็นเส้นเรียวยาว โดยเฉพาะในตัวเมีย

ผิวหนังสาก บนหัวมีกระ ไม่เรียบ ตัวมีสีเขียวมะกอกหรือน้ำตาลอ่อนอมเหลือง มีประด่างสีคล้ำและสีดำตลอดลำตัวด้านบนและครีบ ด้านท้องสีจาง ครีบท้องของปลาแค้วัวจะตั้งตรงอยู่แนวเดียวกับด้านท้ายของครีบหลัง เป็นปลาล่าเหยื่อ กินปลาและซากสัตว์เป็นอาหารหรือแม้กระทั่งเหยื่อปลอมของนักตกปลาก็ไม่เว้น อาศัยอยู่ในแม่น้ำสายใหญ่ของทุกภาค พบน้อยในภาคใต้ พบมากในแม่น้ำเจ้าพระยา แค้วัวมีความยาวเต็มประมาณ 30 - 40 ซม. พบใหญ่สุดไม่เกิน 70 ซม. นิยมบริโภคด้วยการปรุงสด เนื้อมีรสชาติดี อร่อย ทำเป็นอาหารได้หลากหลาย เช่น ต้มยำ เป็นต้น มักพบขายในร้านแม่น้ำตามภูมิภาคที่ติดริมแม่น้ำ และเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม แค้วัว มีชื่อเรียกที่เรียกกันทั่วไปว่า " แค้ " หรือ " แค้ธรรมดา " หรือ " ตุ๊กแก " เป็นต้น

++++++++++++++++++++++++++++


ปลาแค้ยักษ์

ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bagarius yarrelli อยู่ในวงศ์ปลาแค้ (Sisoridae) มีรูปร่างคล้ายแค้วัว (Bagarius bagarius) มากจนสังเกตได้ยาก ที่แตกต่างกันคือ ครีบท้องของแค้ยักษ์จะอยู่เยื้องด้านท้ายของครีบหลัง สีสันก็คล้ายกันมาก แต่อาจมีสีน้ำตาลเข้มหรือคล้ำกว่าในปลาตัวเต็มวัย แค้ยักษ์มีขนาดประมาณ 60 - 70 ซม. พบใหญ่สุดถึง 2 เมตร


อาศัยอยู่ในสายใหญ่ตั้งแต่แม่น้ำสาละวินจนถึงแม่น้ำโขง พบน้อยในภาคใต้ แต่พบมากในแม่น้ำโขง เนื้อมีรสชาติดีและมีสีเหลืองอ่อนรวมถึงหนังและไขมัน ซึ่งต่างจากแค้วัวซึ่งมีเนื้อสีขาว โดยทั้ง 2 ชนิด มักถูกปรุงด้วยวิธีเดียวกัน และนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม

แค้ยักษ์ ยังมีชื่อเรียกอื่นอีกว่า " แค้ควาย " หรือ " ตุ๊กแก " เป็นต้น

++++++++++++++++++++++++++++


ปลาแค้ขี้หมู

เป็นชื่อปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Erethistes maesotensis อยู่ในวงศ์ปลาแค้ (Sisoridae) มีลักษณะลำตัวเล็ก ด้านท้ายเรียวและแบนข้าง หัวโต ปากมนอยู่ด้านล่าง มีหนวด 4 คู่ ตาเล็กและยกสูง ครีบหลังยกสูง ก้านครีบอกโค้งยาวและมีหยักทั้งด้านหน้าและขอบท้าย ครีบหางเว้าโค้ง ลำตัวสีเทาอมเหลืองหรือน้ำตาลและมีประสีคล้ำ ครีบใสและมีแต้มสีคล้ำ มีขนาดประมาณ 2 ซ.ม. ใหญ่สุดเพียง 5 ซ.ม. นับเป็นปลาที่มีขนาดเล็กที่สุดในวงศ์นี้ (Family)


อาศัยอยู่ตามหน้าดินและซอกหินในลำธารที่น้ำไหลเชี่ยวมีพื้นเป็นโคลนปนทรายของลุ่มแม่น้ำสาละวินที่เดียวเท่านั้น โดยอาหารได้แก่ แมลงน้ำและสัตว์หน้าดินขนาดเล็ก


เป็นปลาที่พบน้อย แต่ก็มีการเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยเฉพาะผู้ที่นิยมเลี้ยงปลาแปลก

++++++++++++++++++++++++++++


ปลาแค้งู

เป็นชื่อปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bagarius suchus อยู่ในวงศ์ปลาแค้ (Sisoridae) มีรูปร่างเหมือนปลาแค้ทั่วไป แต่มีสีลำตัวอ่อนกว่า และมีส่วนหัวแบนราบกว่า มีขนาดประมาณ 70 ซ.ม.


โดยอาหารและถิ่นที่อยู่เหมือนกับปลาแค้อีก 2 ชนิด คือ แค้วัว (Bagarius bagarius) และแค้ยักษ์ (Bagarius yarrelli) แต่พบในส่วนที่เป็นหน้าดินกว่า



เป็นปลาแค้ชนิดที่พบได้น้อย นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ซึ่งเป็นปลาที่มีราคาสูง และมีชื่ออื่นอีกว่า " แค้หัวแบน "

++++++++++++++++++++++++++++



ปลาแค้ติดหินสามแถบ

ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Glyptopthorax trillineatus อยู่ในวงศ์ปลาแค้ (Sisoridae) เป็นปลาแค้ในสกุลปลาแค้ติดหิน (Glyptothorax) ชนิดหนึ่งที่มีลำตัวเพรียวยาว ครีบหางเว้าลึก ลำตัวสีน้ำตาลหรือคล้ำอมหเลือง มีแถบสีเหลืองสดพาดลำตัวตามแนวยาวตรงกลางหลังและด้านข้างไปถึงโคนครีบ ครีบสีเหลืองและมีแต้มสีคล้ำ มีขนาดประมาณ 10 - 15 ซ.ม. ใหญ่สุด 30 ซ.ม.


พบอาศัยอยู่เฉพาะลำธารและน้ำตกในระบบแม่น้ำสาละวินเท่านั้น และมีรายงานพบที่จีนด้วย มีพฤติกรรมอาศัยอยู่เป็นกลุ่ม โดยจะหันหน้าสู้กับกระแสน้ำ อาหารได้แก่ แมลงน้ำและลูกปลา ลูกกุ้งขนาดเล็ก



เป็นปลาที่ไม่พบบ่อยมากนัก แต่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ที่บางครั้งพบมีขายในตลาดปลาสวยงาม โดยมีชื่อเรียกว่า " ฉลามทอง "แค้ติดหินสามแถบ มีชื่อเรียกในภาษาเหนือว่า " ก๊องแก๊ง "

++++++++++++++++++++++++++++


หยะเค

เป็นภาษากะเหรี่ยง ที่หมายถึงปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gagata gashawyu อยู่ในวงศ์ปลาแค้ (Sisoridae) มีลักษณะลำตัวทรงกระบอก แบนข้างเล็กน้อย หัวทู่ ตาใหญ่ แต่ม่านตาเล็กคล้ายตางู ปากเล็ก มีหนวด 4 คู่ ครีบหลังยกสูง ครีบไขมันเล็ก ครีบหางเว้าลึก ลำตัวมีสีสันสดใสสวยงาม โดยมีสีฟ้า สีขาว เหลือบเหลืองทองหรือเขียวสลับกันไปทั้งตัวและมีแต้มสีคล้ำ ท้องสีจาง ครีบใส ครีบไขมันมีขอบสีคล้ำ ครีบหางมีแถบสีคล้ำ เป็นปลาขนาดเล็ก ลำตัวกว้างประมาณ 5 ซ.ม. ยาวประมาณ 10 ซ.ม. ใหญ่สุด 13 ซ.ม. อาหารได้แก่ ไส้เดือนน้ำ แมลงน้ำขนาดเล็ก ตะไคร่น้ำ โดยมีพฤติกรรม อยู่ในบริเวณใกล้พื้นท้องน้ำ พบอาศัยอยู่ในน้ำไหลที่มีพื้นเป็นทรายหรือโคลนของลุ่มแม่น้ำสาละวินเท่า นั้น เป็นปลาที่พบได้ทุกฤดูกาล ใช้บริโภคในพื้นที่ และเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ซึ่งนานครั้งจึงจะพบในขายในตลาดปลาสวยงาม และเป็นชนิดที่เลี้ยงยาก เพราะต้องอาศัยอยู่ในน้ำไหลแรงและสะอาดมีปริมาณอ็อกซิเจนละลายในน้ำสูง เหมือนปลาแค้ขี้หมู หยะเค หรือ หยะคุย หรือ ยะคุย เป็นภาษาของชาวกะเหรี่ยง ใช้เรียกปลาในตระกูลปลาแค้โดยไม่แยกชนิด โดยที่คำว่า " หยะ " หรือ " ยะ " แปลว่า ปลา

++++++++++++++++++++++++++++

ข้อมูลยังไม่สมบูรณ์ผิดพลาดบกพร่องประการใด ช่วยชี้แนะด้วยครับ

<<<<<<<<<<<<<<<<<>>>>>>>>>>>>>>>>>


3 ความคิดเห็น:

  1. ข้อมูลอาจผิดพลาดประการใดต้องขออภัยด้วยนนะครับ ถ้าท่านใดรู้ก็ช่วยเสริมความรู้ให้ผมด้วยนะครับ ใจรักแต่ความรู้น้อยไปหน่อย แหะๆ ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
  2. ยังมี Bagarius rutilus. อีกชนิดน่ะครับ พบทางตอนเหนือของลาว เวียตนาม แอนด์ จีน ครับ.

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณน้าเซียวลี้ปวยตอ มากครับ เดี๋ยวผมจะหาข้อมูลมาเพิ่มครับ

    ตอบลบ

.ขอบคุณที่แวะเข้ามาครับ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

เชิญแวะที่:
thainitaห้นย

จ้าวน้อยฟิชชิ่ง ตกปลาฮาเฮ เร่ไปเพราะใจสั่งมา © 2009. Powered by  MyPagerank.Net