24 พฤศจิกายน 2551

ปลาพลวง กับ ปลาเวียน

  • ปลาพลวง
เป็นชื่อปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Neolissocheilus stracheyi หรือ Neolissocheilus soroides เดิม (Tor stacheyi) อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) วงศ์ย่อย Cyprininae - Cyprinini จัดเป็นปลาในวงศ์ปลาตะเพียนที่มีขนาดใหญ่ ลำตัวยาว ด้านข้างแบน มีเกล็ดขนาดใหญ่ หัวเล็ก มีหนวด 2 คู่ อยู่ปากบนและมุมปาก ครีบหางเว้าเป็นแฉกลึก กระโดงหลังค่อนข้างสูงมีก้านแข็ง 1 อัน ครีบหูมีขนาดเล็ก ครีบท้องและครีบก้นมีขนาดใกล้เคียงกัน ลำตัวมีสีน้ำตาล ปนเขียว สีของปลาชนิดนี้ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม


บางแหล่งอาจจะมีสีน้ำตาลปนดำเข้ม มีแถบสีคล้ำพาดกลางลำตัวตามยาวไปใกล้โคนหาง ด้านท้องสีจาง ขนาดโดยประมาณ 60 ซ.ม. พบใหญ่สุดถึง 1.5 เมตร อาศัยอยู่เป็นฝูงใหญ่นับ 100 ตัวขึ้นไป ตามแม่น้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำใสสะอาด เช่น บริเวณแหล่งน้ำเชิงภูเขา หรือตามลำธารน้ำตกต่าง ๆ ทั่วประเทศ


อาหารได้แก่ เมล็ดพืชต่าง ๆ เป็นปลาใหญ่ที่มักไม่มีใครนำมารับประทาน เนื่องจากทานไปแล้วเกิดอาการมึนเมา จึงเชื่อว่าเป็นปลาเจ้า แต่ความจริงแล้ว ปลาชนิดนี้ได้สะสมพิษจากเมล็ดพืชที่รับประทานเข้าไปในร่างกาย เช่นเดียวกับกรณีของปลาบ้า มีการรวบรวมลูกปลาจากธรรมชาติเพื่อขายส่งเป็นปลาสวยงาม


ปลาพลวง มีชื่อเรียกต่างออกไปตามภาษาถิ่นเช่น ภาคเหนือเรียก " พุง " หรือ " มุง " บางพื้นที่เรียกว่า " จาด " หรือ " โพ " หรือ " พลวงหิน " เป็นต้น และมีชื่อเป็นภาษากะเหรี่ยงว่า " ยะโม "

++++++++++*+*+++++++++++


ปลาพลวงหิน

  • ปลาพลวงถ้ำ
ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Neolissochilus subterraneus อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) วงศ์ย่อย Cyprininae - Cyprinini มีรูปร่างคล้ายปลาพลวง (Neolissocheilus stracheyi) แต่หัวโตกว่า หลังค่อนข้างค่อมโค้ง ตาเล็กและมีหนังบาง ๆ คลุม เกล็ดมีขนาดใหญ่และบางมีสีขาวซีดอมชมพู ปลาขนาดเล็กมีตาโตและลำตัวสีเงินจาง



มีขนาดความยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร ปลาพลวงถ้ำ เป็นปลาชนิดใหม่ที่เพิ่งค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2546 โดยพบเฉพาะในถ้ำพระวังแดง ในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก แห่งเดียวในโลกเท่านั้น โดยปลาขนาดเล็กจะนิยมอยู่ใกล้ปากถ้ำหรือปล่องถ้ำ ส่วนปลาขนาดใหญ่จะอยู่ลึกกว่า กินอาหาร คือ อินทรียสารจากมูลค้างคาว

++++++++++*+*+++++++++++



  • ปลาพลวงทอง
เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tor soro อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) วงศ์ย่อย Cyprininae - Cyprinini มีลักษณะคล้ายปลาพลวง (Neolissocheilus stracheyi) และ ปลาเวียน (Tor tambroides) แต่ว่ามีสีเหลืองเหลือบทองที่ด้านข้างลำตัวเห็นได้ชัดเจนกว่า

อาศัยอยู่ตามต้นน้ำลำธารที่สะอาด และไหลแรงในป่าหรือน้ำตกเช่นเดียวกับปลาในตระกูล ปลาพลวง และ ปลาเวียน ทั่วไป มีความยาวเต็มที่ 100 ซ.ม. นิยมตกเป็นเกมกีฬาและเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม

++++++++++*+*+++++++++++


  • ปลาเวียน
เป็นชื่อปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tor tambroides อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) วงศ์ย่อย Cyprininae - Cyprinini เป็นปลาในวงศ์ปลาตะเพียนขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง รูปร่างลักษณะคล้ายปลาพลวงซึ่ง อยู่ในตระกูลเดียวกัน เว้นแต่ริมฝีปากบนมีแผ่นหนังยื่นออกมาทำให้ดูคล้ายจงอยปากงุ้มลง และรูปร่างลำตัวที่เพรียวกว่า ขนาดเฉลี่ยโดยทั่วไปประมาณ 60 ซ.ม. ขนาดใหญ่สุดที่พบ 1 เมตร


ปลาเวียนเป็นปลาที่มีหัวค่อนข้างแหลม ปากเล็กอยู่ต่ำกว่าระดับปลายจะงอยปาก มีเส้นข้างตัวที่สมบูรณ์ มีหนวด๒ คู่ อยู่บริเวณจะงอยปากและมุมปาก ริมฝีปากหนา ซึ่งปลาเวียนเพศเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าปลาเพศผู้ ถ้าเป็นช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูผสมพันธุ์ ใน (ฤดูฝน) ที่แก้มบริเวณใต้ตาของปลาเพศผู้จะมีตุ่มเล็ก หากเอามือลูบจะรู้สึกสากมือ อาศัยตามแหล่งน้ำสะอาดตามต้นน้ำลำธาร มีพฤติกรรมในอพยพย้ายถิ่นลงมาทางปากน้ำในฤดูฝน ตามรายงานพบว่า ปลาที่อาศัยในแม่น้ำแม่กลอง เมื่อถึงฤดูฝนจะว่ายตามกระแสน้ำลงไปจนถึงปากนี้ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า " ปลาเหล แม่น้ำ " นานประมาณ 4-8 สัปดาห์ จากนั้นจะหวนกลับไปยังต้นน้ำ แสวงหาสถานที่อันเหมาะสมเพื่อผสมพันธุ์ จะวางไข่ในช่วงเดือนมิถุนายน และกรกฎาคม



เคยเป็นปลาที่ขึ้นชื่อของจังหวัดเพชรบุรี เพราะเนื้อนุ่มละเอียด มีไขมันสะสมในเนื้อเยอะ ซึ่งปัจจุบันพบได้น้อย จนแทบกล่าวได้ว่าหมดไปแล้ว เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ถูกทำลาย ปลาเวียนยังจัดเป็นปลาสวยงามที่หายากราคาค่อนข้าง แพง และมักจะถูกลักลอบจับ ด้วยการใช้ระเบิดและยาเบื่อเมา ปัจจุบันอาจมีให้พบเห็นบ้างในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจานและบริเวณต้นน้ำ เพชรบุรี ในช่วงปี ๒๕๓๕-๒๕๓๙ สถานีประมงน้ำจืดเพชรบุรี โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเพชรบุรี ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการเพาะและขยายพันธุ์ปลาเวียน ด้วยการรวบรวมพ่อแม่พันธุ์จากบริเวณต้นน้ำเพชรบุรี มาทำการศึกษาโดยเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงพ่อพันธ์ แม่พันธุ์ ให้สมบูรณ์ เพื่อทดลองฉีดฮอร์โมนผสมเทียมด้วยระดับฮอร์โมนต่างๆ รวมทั้งมีการออกแบบระบบการฟักไข่ และการอนุบาลที่เหมาะสมกับลูกปลา จนกระทั่งสามารถขยายพันธุ์ปลาเวียนได้สำเร็จครั้งแรกในปี ๒๕๔๔


และขณะนี้ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเพชรบุรี ก็กำลังทำการวิจัยเพาะพันธุ์ปลาเวียนที่เหลืออยู่จำนวน ๓๐ คู่ ใน ๓ บ่อ ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการเพาะพันธุ์ปลา เวียนมีอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการคัดเลือก พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ปลา ที่ค่อนข้างลำบาก เพราะปลาเวียนเป็นปลาป่า ดำรงชีวิตอยู่ตามธรรมชาติ


แม้ในการเพาะเลี้ยงจะมีการเลียนแบบสิ่งแวดล้อมที่ปลาเคยอาศัย แต่ก็ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร ซึ่งในส่วนความสำเร็จของการเพาะพันธุ์ปลาเวียน ก็นับเป็นข้อมูลพื้นฐานที่จะถูกพัฒนาเพื่อเพิ่มปริมาณปลาเวียน ซึ่งถือเป็นปลาประจำจังหวัดเพชรบุรี ให้มากขึ้น ก่อนที่จะปล่อยให้ปลาอยู่คู่กับสายน้ำที่สำคัญของเมืองเพชร

++++++++++*+*+++++++++++

3 ความคิดเห็น:

  1. สำหรับบางคนที่ไม่รู้หรือไม่เข้าใจว่า ทำไมตัวนี้เป็นพลวง ตัวนี้เป็นเวียน ให้พลิกดูใต้คางบริเวณปากล่าง ถ้ามีflap หรือแผ่นเนื้อ ที่สามารถจับได้ อันนั้นล่ะเวียนครับ กลุ่มปลาเวียนมีหลายชนิด เขาจะใช้ลักษณะของปากที่ดูจากใต้คางที่แตกต่างกันออกไป ส่วนในกลุ่มปลาพลวง ยอมรับว่ากลุ่มนี้ผมสนใจมากทีเดียวครับ บางครั้งเขาจะใช้การกระจายเป็นตัวระบุชนิด แต่บางคนอาจจะตั้งข้อสงสัยว่า บางพื้นที่อาจจะมีปลาพลวงมากกว่า 2 ชนิด อันนี้ตามความเข้าใจของตัวเองต้องอาศัยความคุ้นเคย เพราะเชื่อว่าอาจจะมีลักษณะที่แตกต่างกันที่สามารถแยกได้ครับ.

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณมากครับน้าเซียวลี้ปวยตอ เข้ามาให้ความรู้ผมบ่อยๆนะครับ ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
  3. มีรูปปลาคมตัวใหญ่ ที่บ้านยอดตำลึง แม่สะเรียง
    ครูพจน์

    ตอบลบ

.ขอบคุณที่แวะเข้ามาครับ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

เชิญแวะที่:
thainitaห้นย

จ้าวน้อยฟิชชิ่ง ตกปลาฮาเฮ เร่ไปเพราะใจสั่งมา © 2009. Powered by  MyPagerank.Net