18 สิงหาคม 2553

เทคนิคการใช้เหยื่อยาง (TexusRigs#3)


เทคนิคการใช้เหยื่อยาง (แบบที่รู้จักกันทั่วไป )

บทความตอนนี้ ขอเกริ่นนำและอธิบายให้ครอบคลุมอย่างคร่าว ๆ เกี่ยวกับ เหยื่อประเภท Jelly Bait บางท่านเรียก Worms หรือบางท่านเรียกเป็นคำไทย ว่าหนอนยาง หรือ อีกหลายชื่อที่นักตกปลาใช้เรียกเหยื่อปลอม ชนิดนี้ โดยส่วนตัวเห็นว่ามีประโยชน์ กับนักตกปลาที่สนใจเกมส์ฟิช(Game fish) ชนิดปลาล่าเหยื่อบ้างพอสมควร ขอนำบทความนี้ ด้วยคำว่า เหยื่อยาง เพราะดูแล้วน่าจะเป็นคำไทยที่ครอบคลุมทุกประเภท และทุกแบบของเหยื่อตกปลาชนิดนี้


เหยื่อยางที่นิยมใช้กันมาก และมีชื่อเสียงในบ้านเรามานาน คงจะหนีไม่พ้นจิ้งจกยาง ที่หลายท่านนิยมใช้ตกปลาช่อน ตามคูคลองบริเวณข้างทาง หรือ บ่อน้ำที่มีวัชพืช ปกคลุมอยู่บ้าง ในบทความนี้อาจกล่าวถึงปลาล่าเหยื่อต่างประเทศ ขอให้เข้าใจร่วมกันก่อนนะครับ ว่าเรากำลังร่วมกัน ศึกษาและพัฒนารูปแบบการใช้เหยื่อยาง ในบ้านเรา ซึ่งสัญชาติญานของปลาล่าเหยื่อนั้น ไม่ต่างกันเท่าใดนัก


บทความที่เรียบเรียงไว้ในบทนี้ ขออนุญาต ข้ามเรื่องจิ้งจกยาง รวมถึงเหยื่อชนิดปลายางไปก่อนครับ โดยบทความตอนนี้ขอเล่าถึง ประสบการณ์ส่วนตัว รวมทั้งสิ่งต่าง ๆ ที่เคยได้รับการบอกเล่า และเรียนรู้จากนักตกปลาท่านอื่น มานำเสนอให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกันครับ


การตกปลาด้วยเหยื่อยาง รวมไว้ซึ่งศาสตร์ และ ศิลป์ เริ่มจากผู้ผลิต ที่คิดค้นเนื้อวัสดุ และรูปแบบของตัวเหยื่อเลียนแบบ ให้เหมือนสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ บ้างก็แปลกแหวกแนว มองอย่างไร ก็ไม่เหมือนสิ่งมีชีวิตที่เราเคย พบเห็นกัน


จากในภาพจะเห็นได้ว่า ลักษณะเหยื่อยาง มีหลายรูปแบบ หลายขนาด รวมถึงสีสันของตัวเหยื่อ เรียกว่ามีเป็นร้อยแบบก็คงได้ โยงไปถึงเรื่องกลิ่นของตัวเหยื่อ เหยื่อยางบางรุ่นมีกลิ่นหอมในตัวเอง (คนอาจเหม็นก็ได้) แต่ปลาคงรู้สึกหอมน่าหม่ำมากกว่า บางตัวที่ราคาไม่แพง คุณภาพไม่ค่อยดี อาจมีกลิ่นเหม็นของสารสังเคราะห์ได้เช่นกัน นอกจากนี้ ลักษณะความนิ่ม และความยืดหยุ่นของตัวเหยื่อล้วนถูกพัฒนา ใส่เทคนิคการผลิตเข้าไปหลายอย่าง


เหยื่อยางหลายตัวต้องแช่อยู่ในน้ำมันหรือสารสังเคราะห์ ซึ่งจะทำไห้คงสภาพตัวเหยื่อไว้ได้ เหมือนตอนเหยื่อออกจากแม่พิมพ์ และยังได้ประโยชน์จากกลิ่นหอม ๆ และการฟุ้งของสารละลายที่ใช้พรมตัวเหยื่อนั้น ๆ ด้วย เทคนิคการผลิตเหยื่อยางให้ตัวเหยื่อมีความนิ่ม และส่งกลิ่นสังเคราะห์ ทีอยู่ในเนื้อใน ของตัวเหยื่อ ออกมากได้อย่างหนึ่งก็คือ การใส่เกลือเข้าไปในกระบวนการผลิต ประโยชน์ของเกลือนี้ ทำให้เหยื่อมีรูพรุนเมื่อลงน้ำ ทำให้ตัวเหยื่อมีความนุ่ม และตัวเบ็ดสามารถทะลุทะลวงได้ดีกว่า


นอกจากนี้ รูปร่างเหยื่อยางชนิดต่างๆ ก็มีลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันไป ในแต่ละสภาวะแวดล้อม ในแต่ละพื้นที่ แอ็คชั่นของตัวเหยื่อมักได้ถูกคิดและวางรูปแบบการใช้งานคร่าว ๆ มาแล้ว ส่วนมากมักมีการดัดแปลงการใช้งาน หรือตัดต่อตัวเหยื่อ ใหม่ บ้างก็ประกอบเข้ากับ อุกปกรณ์ หรือเหยื่อชนิด อื่น เพื่อสร้างความสนใจให้กับปลาพันธ์ดุ ใต้น้ำมากขึ้น
อุปกรณ์ที่จำเป็น เมื่อใช้เหยื่อยาง มีคร่าว ๆ ดังนี้ครับ

1. ชุดอุปกรณ์ คันเบ็ดและรอก ได้ทั้งเบทและสปินนิ่ง แต่มักนิยมคันแอ็คชั่นค่อนข้างอ่อน ก้านคันเบ็ดแบบเล็กๆ จะได้เปรียบเรื่องแรงสะบัดในการส่งเหยื่อเข้าสู่เป้าหมาย สปินนิ่งอาจได้เปรียบในเรื่องของการตีเหยื่อเบา ๆ ได้ไกลกว่า การทอยเหยื่อ ก็ทำได้สะดวกกว่า แต่รอกเบทเล็ก ๆ คุณภาพดี ๆ ก็ทำได้ไม่เป็นรองเท่าใดนัก
2. สายที่นิยมใช้ ปกติ นักตกปลาส่วนใหญ่ คงคิดถึงชนิดปลาเป็นหลักในการเลือกใช้สาย แต่จากการพูดคุย กับนักตกปลาญี่ปุ่น ที่เชี่ยวชาญหลายท่าน (อาจารย์สอนตกปลาแบส) ให้ความเห็นว่า สายควรใช้ขนาดเล็ก ๆ เข้าไว้ จะทำให้เหยื่อตีไกล และแม่นยำ

ที่สำคัญที่สุดคือแอ็คชั่นที่ได้จากตัวเหยื่อขณะใช้งาน จะแสดงออกมาได้เต็มที่ เกี่ยวกับสาย PE หรือสายไดนีม่า ไม่นิยมใช้กันเท่าใดนักในเกมน้ำจืด เมื่อแรกก็จะนึกไปถึงราคาของสายชนิดนี้ที่วางขายในญี่ปุ่น มีราคาแพงกว่าสายธรรมดาอยู่ 3-5 เท่าขึ้นไป (ความยาวที่พบได้ส่วนใหญ่คือ 100 เมตร และ 150 เมตร)ผู้ เขียนได้สอบถามดูจากนักตกปลา(ที่น่าจะเชี่ยวชาญการใช้เหยื่อยางหลายท่าน ..จริงๆ แล้วแค่ 3 ท่านครับ ) ได้รับคำตอบทำนองเดียวกันว่า สายไดนีม่านี้ เมื่อเปียกน้ำอาจมีน้ำหนักมากกว่าสายโมโนฟิลาเมนต์ (สายเอ็นธรรมดา) อยู่สักหน่อย รวมถึงเมื่ออยู่ใต้น้ำ การให้ตัวของเหยื่อยาง (เมื่อหวังปลาที่รอกัดเหยื่ออยู่บริเวณหน้าดิน) จะไม่เป็นอิสระเท่าที่ควร จะมีใช้กันมาก ๆ ก็เหยื่อติดหัวจิ๊ก ที่ตีเหยื่อแบบเหยื่อบิน (ลอยกลางน้ำ) มากกว่า

รวมถึงการตกปลาในเขตแก่งหิน ถึงจะใช้สายชนิดไดนีม่ากัน เพราะเรื่องของประสิทธิภาพด้านการทนต่อแรงเสียดสี ขูดกับแก่งหิน หรือตอไม้ใต้น้ำเป็นต้น ทั้งนี้ชุดลีดเดอร์ ยังคงใช้สายเอ็นขนาดเล็กอยู่ดี ปกติจะขึ้นกับขนาดปลา โดยมีใช้กันตั้งแต่ ขนาดราวๆ 2 ปอนด์ ถึง 10 ปอนด์ มากกว่านี้ไม่นิยมใช้ร่วมกับเหยื่อยางตัวเล็ก ๆ แต่หากท่านใดประสงค์ใช้งาน ก็ไม่ผิดแต่ประการใด เพราะคงต้องดูถึงสภาพแวดล้อมการใช้งาน และเทคนิคของนักตกปลาแต่ละท่าน....

3. ตัวเบ็ดที่ใช้ มีมากมายหลายแบบ ทั้งนี้ขึ้นกับชนิด และขนาดของตัวเหยื่อเป็นสำคัญ ถัดไปก็เรื่องของการใช้เหยื่อในแต่ละแบบ จะหน้าดิน เลาะตลิ่ง มุดตอ หรือแม้แต่ใช้แบบเหยื่อบินกลางน้ำ ก็ต้องเลือกตัวเบ็ดให้เหมาะกับการตกปลาแต่ละครั้ง

อุปกรณ์ ที่ต้องมีติดไว้แบบพอจำเป็นก็ดังในภาพ บางตัวก็มีหัวจิ๊ก บางตัวก็มีลวด หรือส่วนของการป้องกัน เบ็ดเกี่ยวกับวัชพืช หรือสิ่งแปลกปลอมใต้น้ำ


4. อุปกรณ์เสริมอื่นๆ ขาดไม่ได้ก็ลูกหมุน ถัดไปก็คลิ๊ปเผื่อจะเอาไว้เปลี่ยนเหยื่อได้สะดวก ตะกั่ว ทรงกรวย ทรงกลม หรือแม้แต่ทรงตุ้ม อย่างลูกสีเขียว (ดังในภาพ) ก็นำมาใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน ที่สำคัญ ขนาดเล็ก ๆ ครับ

ให้ ดูเหยื่อยางที่ใช้เป็นหลักครับ พวกจิ๊กหัวขน ก็นิยมใช้ร่วมกับ เหยื่อยางเช่นเดียวกัน เรียกว่าประกอบกันแล้ว ตัวเหยื่อดูหล่อขึ้นมาก และบางครั้งปลากัดมากกว่าการใช้เหยื่อยางอย่างเดียวครับ
สปินเนอร์เบท ก็นิยม เกี่ยวหนอนตัวเล็ก ๆ ไว้ที่ตัวเบ็ดด้วยเช่นเดียวกัน (ปกติ สปินเนอร์เบท ที่มีพู่อยู่ดังในภาพ ก็สามารถใช้ตกปลาได้โดยไม่ต้องมีเหยื่อยางนะครับ)เรื่องของเทคนิคการประกอบเหยื่อ ถึงขึ้นการใช้งาน และ แอ็คชั่นของตัวเหยื่อที่เราหวังผล

5. สเปรย์ดับกลิ่น เพิ่มกลิ่น และน้ำยาชุบกลิ่นให้เหยื่อยาง เป็นสิ่งสุดท้าย ที่ไม่จำเป็นต้องมีเท่าใดนัก แต่หากนักตกปลาท่านใด หวังผล และคาดหวังการได้ยลโฉมตัวปลามากกว่าปกติ หรือไม่อยากพลาด อาหารจานเด็ดล่ะก้อ ของสิ่งนี้ ช่วยให้เพิ่มความน่าจะเป็นในการตกปลาได้มากขึ้น ขอให้มีความสุขในการตกปลาด้วยเหยื่อยางนะครับ

ต้องขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก fishing4you.com และ g-fishinggame.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

.ขอบคุณที่แวะเข้ามาครับ

เชิญแวะที่:
thainitaห้นย

จ้าวน้อยฟิชชิ่ง ตกปลาฮาเฮ เร่ไปเพราะใจสั่งมา © 2009. Powered by  MyPagerank.Net