26 ธันวาคม 2551

ปลาแก้มช้ำ



ปลาแก้มช้ำ
  • ชื่อไทย แก้มช้ำ ขาวสมอมุก ปก ปกส้ม ลาบก หางแดง
  • ชื่อสามัญ RED - CHEEK BARB
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Puntius orphoides
ถิ่นอาศัย พบ ทั่วไปตามแหล่งน้ำไหลและน้ำนิ่ง ในแม่น้ำลำคลอง หนองและบึง มีชื่อเรียกแตกต่างเป็นหลายชื่อตามท้องถิ่นที่พบ เช่น ภาคกลางเรียกปลาแก้มช้ำ ภาคใต้เรียกปลาลาบก ภาคเหนือเรียกปลาปก ส่วนชื่อปลาขาวสมอมุก เรียกกันในแถบภาคอีสาน


  • ลักษณะทั่วไป รูป ร่างคล้ายปลาตะเพียนแต่ป้อมกว่า ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย หัวเล็ก ปากค่อนข้างเล็กและอยู่ปลายสุด มีหนวดสั้นและเล็ก 2 คู่ที่ริมฝีปาก ครีบหลังค่อนข้างเล็ก ครีบหางเว้าแฉก มีเกล็ดค่อนข้างใหญ่ สีตามบริเวณลำตัวและส่วนหัวจะเป็นสีขาวเงิน หลังสีน้ำตาลอ่อน กระพุ้งแก้มมีแต้มสีส้มหรือแดงเรื่อ บริเวณหลังช่องเปิดเหงือกมีแถบสีดำ ครีบหลัง ครีบก้นครีบท้องสีแดงเรื่อ ครีบหางสีแดงสดจะมีแถบสีคล้ำทั้งขอบบนและล่าง ที่โคนหางมีจุดกลมสีคล้ำ


  • เป็นปลาที่มี สีสรรสวยงาม เกล็ดบริเวณด้านข้างลำตัวและท้องมีสีขาวเงิน ขอบหลังของ กระพุ้งแก้ม มีรอยสีแดงเรื่อ ๆ หลังช่องเหงือกมีแถบ หรือแต้มสีดำด้านละ 1 แถบ ครีบหางมีสีแดงขอบบน และ ขอบล่าง ของแพนหาง มีแถบสีดำ


  • การสืบพันธุ์ สามารถ เพาะพันธุ์โดยการฉีดฮอร์โมน หลังฉีดปลา 3 ชั่วโมง ปลาตัวผู้จะเริ่มคลอเคลียตัวเมีย จึงจับมาทำการผสมเทียมแบบแห้ง แล้วนำไปฟักโดยให้เกาะติดพันธุ์ไม้น้ำหรือรังเทียม จะใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ 20 - 22 ชั่วโมง หรือเพาะโดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ โดยฉีดฮอร์โมนแล้วปล่อยให้ผสมกันเอง ซึ่งตัวเมียจะเริ่มวางไข่หลังฉีดฮอร์โมน 5 - 6 ชั่วโมง ไข่มีลักษณะกลม เป็นไข่ติด สีเหลืองใส


  • อาหารธรรมชาติ กินแมลง ซากพืชและสัตว์ที่เน่าเปื่อย แพลงค์ตอน ตัวอ่อนของแมลง

คลิ้กที่นี่เพื่ออ่านต่อ......

23 ธันวาคม 2551

วงศ์ปลาแค้(Sisoridae)




วงศ์ปลาแค้ (Sisoridae)

เป็นปลาหนังหรือปลาไม่มีเกล็ดวงศ์หนึ่ง  ในอันดับปลาหนัง ที่แตกต่างจากวงศ์อื่นคือ ส่วนหัวโต ปากกว้างมากและอยู่ด้านล่าง ผิวหนังบนหัวและตัวไม่เรียบ อาจสากหรือเป็นตุ่มนิ่มเล็กๆ บนหัวมีสันตื้นๆ ไปถึงด้านหลัง ครีบไขมันมีขนาดเล็ก มีหนวด 4 คู่ หนวดที่ริมฝีปากเป็นเส้นแบนและแข็ง หนวดที่จมูกสั้น หนวดใต้คางยาว ส่วนมากที่ครีบหลังและครีบอกมีก้านแข็งแหลมคม ครีบท้องใหญ่ ครีบก้นเล็ก ครีบหางเว้าลึก


ในบางสกุล (Genus) เช่น Glyptopthorax มีแผ่นหนังย่นใต้อกซึ่งใช้เกาะพื้นหินได้


กินเนื้อ ตั้งแต่สัตว์หน้าดินจนถึงปลาขนาดเล็กกว่าอาศัยบริเวณพื้นน้ำ โดยหันหน้าทวนกระแสน้ำ ชอบสภาพแวดล้อมพื้นทราย น้ำสะอาดใส มีออกซิเจนสูง มีการกระจายพันธุ์เฉพาะเขตร้อนของทวีปเอเชีย พบมากกว่า 50 ชนิดพบในประเทศไทยประมาณ 17 ชนิดมีขนาดแตกต่างออกไปตั้งแต่ตั้งแต่ความยาวเพียง5ซม. คือ ปลาแค้ขี้หมู (Erethistes maesotensis)ที่พบเฉพาะลุ่มแม่น้ำสาละวินไปจนถึงปลาแค้ยักษ์ (Bagarius yarrelli) ขนาดถึง 2 เมตรโดยชนิดที่พบบ่อยคือ แค้วัว (Bagarius bagarius) หรือแค้ธรรมดา กับ แค้ยักษ์

++++++++++++++++++++++++++++


ปลาแค้วัว

ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bagarius bagarius อยู่ในวงศ์ปลาแค้ (Sisoridae) มีลักษณะหัวแบนราบมีด้านบนโค้งและด้านล่างเรียบ จะงอยปากยื่นยาว มองจากด้านบนจะโค้ง หนวดเป็นเส้นแข็งมีผังผืดที่ริมฝีปาก ตาเล็กอยู่ด้านบนของหัว มีลักษณะคล้ายตาของงูหรือจระเข้ คือ มีม่านตาดำเล็กเป็นช่องแนวตั้ง ปากกว้างมากมีฟันเป็นเขี้ยวแหลมคมอย่างสัตว์ดุร้าย

ส่วนหลังยกสูง ลำตัวแบนราบเล็กน้อย ครีบหลังยกสูงมีก้านครีบแข็งแหลมคมเช่นเดียวกับครีบอก ที่ปลายครีบอก ครีบท้อง ครีบหลัง มีลักษณะเป็นเส้นเรียวยาว โดยเฉพาะในตัวเมีย

ผิวหนังสาก บนหัวมีกระ ไม่เรียบ ตัวมีสีเขียวมะกอกหรือน้ำตาลอ่อนอมเหลือง มีประด่างสีคล้ำและสีดำตลอดลำตัวด้านบนและครีบ ด้านท้องสีจาง ครีบท้องของปลาแค้วัวจะตั้งตรงอยู่แนวเดียวกับด้านท้ายของครีบหลัง เป็นปลาล่าเหยื่อ กินปลาและซากสัตว์เป็นอาหารหรือแม้กระทั่งเหยื่อปลอมของนักตกปลาก็ไม่เว้น อาศัยอยู่ในแม่น้ำสายใหญ่ของทุกภาค พบน้อยในภาคใต้ พบมากในแม่น้ำเจ้าพระยา แค้วัวมีความยาวเต็มประมาณ 30 - 40 ซม. พบใหญ่สุดไม่เกิน 70 ซม. นิยมบริโภคด้วยการปรุงสด เนื้อมีรสชาติดี อร่อย ทำเป็นอาหารได้หลากหลาย เช่น ต้มยำ เป็นต้น มักพบขายในร้านแม่น้ำตามภูมิภาคที่ติดริมแม่น้ำ และเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม แค้วัว มีชื่อเรียกที่เรียกกันทั่วไปว่า " แค้ " หรือ " แค้ธรรมดา " หรือ " ตุ๊กแก " เป็นต้น

++++++++++++++++++++++++++++


ปลาแค้ยักษ์

ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bagarius yarrelli อยู่ในวงศ์ปลาแค้ (Sisoridae) มีรูปร่างคล้ายแค้วัว (Bagarius bagarius) มากจนสังเกตได้ยาก ที่แตกต่างกันคือ ครีบท้องของแค้ยักษ์จะอยู่เยื้องด้านท้ายของครีบหลัง สีสันก็คล้ายกันมาก แต่อาจมีสีน้ำตาลเข้มหรือคล้ำกว่าในปลาตัวเต็มวัย แค้ยักษ์มีขนาดประมาณ 60 - 70 ซม. พบใหญ่สุดถึง 2 เมตร


อาศัยอยู่ในสายใหญ่ตั้งแต่แม่น้ำสาละวินจนถึงแม่น้ำโขง พบน้อยในภาคใต้ แต่พบมากในแม่น้ำโขง เนื้อมีรสชาติดีและมีสีเหลืองอ่อนรวมถึงหนังและไขมัน ซึ่งต่างจากแค้วัวซึ่งมีเนื้อสีขาว โดยทั้ง 2 ชนิด มักถูกปรุงด้วยวิธีเดียวกัน และนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม

แค้ยักษ์ ยังมีชื่อเรียกอื่นอีกว่า " แค้ควาย " หรือ " ตุ๊กแก " เป็นต้น

++++++++++++++++++++++++++++


ปลาแค้ขี้หมู

เป็นชื่อปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Erethistes maesotensis อยู่ในวงศ์ปลาแค้ (Sisoridae) มีลักษณะลำตัวเล็ก ด้านท้ายเรียวและแบนข้าง หัวโต ปากมนอยู่ด้านล่าง มีหนวด 4 คู่ ตาเล็กและยกสูง ครีบหลังยกสูง ก้านครีบอกโค้งยาวและมีหยักทั้งด้านหน้าและขอบท้าย ครีบหางเว้าโค้ง ลำตัวสีเทาอมเหลืองหรือน้ำตาลและมีประสีคล้ำ ครีบใสและมีแต้มสีคล้ำ มีขนาดประมาณ 2 ซ.ม. ใหญ่สุดเพียง 5 ซ.ม. นับเป็นปลาที่มีขนาดเล็กที่สุดในวงศ์นี้ (Family)


อาศัยอยู่ตามหน้าดินและซอกหินในลำธารที่น้ำไหลเชี่ยวมีพื้นเป็นโคลนปนทรายของลุ่มแม่น้ำสาละวินที่เดียวเท่านั้น โดยอาหารได้แก่ แมลงน้ำและสัตว์หน้าดินขนาดเล็ก


เป็นปลาที่พบน้อย แต่ก็มีการเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยเฉพาะผู้ที่นิยมเลี้ยงปลาแปลก

++++++++++++++++++++++++++++


ปลาแค้งู

เป็นชื่อปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bagarius suchus อยู่ในวงศ์ปลาแค้ (Sisoridae) มีรูปร่างเหมือนปลาแค้ทั่วไป แต่มีสีลำตัวอ่อนกว่า และมีส่วนหัวแบนราบกว่า มีขนาดประมาณ 70 ซ.ม.


โดยอาหารและถิ่นที่อยู่เหมือนกับปลาแค้อีก 2 ชนิด คือ แค้วัว (Bagarius bagarius) และแค้ยักษ์ (Bagarius yarrelli) แต่พบในส่วนที่เป็นหน้าดินกว่า



เป็นปลาแค้ชนิดที่พบได้น้อย นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ซึ่งเป็นปลาที่มีราคาสูง และมีชื่ออื่นอีกว่า " แค้หัวแบน "

++++++++++++++++++++++++++++



ปลาแค้ติดหินสามแถบ

ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Glyptopthorax trillineatus อยู่ในวงศ์ปลาแค้ (Sisoridae) เป็นปลาแค้ในสกุลปลาแค้ติดหิน (Glyptothorax) ชนิดหนึ่งที่มีลำตัวเพรียวยาว ครีบหางเว้าลึก ลำตัวสีน้ำตาลหรือคล้ำอมหเลือง มีแถบสีเหลืองสดพาดลำตัวตามแนวยาวตรงกลางหลังและด้านข้างไปถึงโคนครีบ ครีบสีเหลืองและมีแต้มสีคล้ำ มีขนาดประมาณ 10 - 15 ซ.ม. ใหญ่สุด 30 ซ.ม.


พบอาศัยอยู่เฉพาะลำธารและน้ำตกในระบบแม่น้ำสาละวินเท่านั้น และมีรายงานพบที่จีนด้วย มีพฤติกรรมอาศัยอยู่เป็นกลุ่ม โดยจะหันหน้าสู้กับกระแสน้ำ อาหารได้แก่ แมลงน้ำและลูกปลา ลูกกุ้งขนาดเล็ก



เป็นปลาที่ไม่พบบ่อยมากนัก แต่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ที่บางครั้งพบมีขายในตลาดปลาสวยงาม โดยมีชื่อเรียกว่า " ฉลามทอง "แค้ติดหินสามแถบ มีชื่อเรียกในภาษาเหนือว่า " ก๊องแก๊ง "

++++++++++++++++++++++++++++


หยะเค

เป็นภาษากะเหรี่ยง ที่หมายถึงปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gagata gashawyu อยู่ในวงศ์ปลาแค้ (Sisoridae) มีลักษณะลำตัวทรงกระบอก แบนข้างเล็กน้อย หัวทู่ ตาใหญ่ แต่ม่านตาเล็กคล้ายตางู ปากเล็ก มีหนวด 4 คู่ ครีบหลังยกสูง ครีบไขมันเล็ก ครีบหางเว้าลึก ลำตัวมีสีสันสดใสสวยงาม โดยมีสีฟ้า สีขาว เหลือบเหลืองทองหรือเขียวสลับกันไปทั้งตัวและมีแต้มสีคล้ำ ท้องสีจาง ครีบใส ครีบไขมันมีขอบสีคล้ำ ครีบหางมีแถบสีคล้ำ เป็นปลาขนาดเล็ก ลำตัวกว้างประมาณ 5 ซ.ม. ยาวประมาณ 10 ซ.ม. ใหญ่สุด 13 ซ.ม. อาหารได้แก่ ไส้เดือนน้ำ แมลงน้ำขนาดเล็ก ตะไคร่น้ำ โดยมีพฤติกรรม อยู่ในบริเวณใกล้พื้นท้องน้ำ พบอาศัยอยู่ในน้ำไหลที่มีพื้นเป็นทรายหรือโคลนของลุ่มแม่น้ำสาละวินเท่า นั้น เป็นปลาที่พบได้ทุกฤดูกาล ใช้บริโภคในพื้นที่ และเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ซึ่งนานครั้งจึงจะพบในขายในตลาดปลาสวยงาม และเป็นชนิดที่เลี้ยงยาก เพราะต้องอาศัยอยู่ในน้ำไหลแรงและสะอาดมีปริมาณอ็อกซิเจนละลายในน้ำสูง เหมือนปลาแค้ขี้หมู หยะเค หรือ หยะคุย หรือ ยะคุย เป็นภาษาของชาวกะเหรี่ยง ใช้เรียกปลาในตระกูลปลาแค้โดยไม่แยกชนิด โดยที่คำว่า " หยะ " หรือ " ยะ " แปลว่า ปลา

++++++++++++++++++++++++++++

ข้อมูลยังไม่สมบูรณ์ผิดพลาดบกพร่องประการใด ช่วยชี้แนะด้วยครับ

<<<<<<<<<<<<<<<<<>>>>>>>>>>>>>>>>>


คลิ้กที่นี่เพื่ออ่านต่อ......

ปลา



คำว่า"ปลา"ในพจนานุกรมภาษาไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525ได้ให้ความหมายไว้ว่า" เป็นชื่อสัตว์เลือดเย็น มีกระดูกสันหลัง ร่างกายแบ่งเป็นส่วนหัว ลำตัวและหาง ส่วนใหญ่หายใจทางเหงือก มีครีบใช้ช่วยในการเคลื่อนไหว
บางชนิดมีเกล็ด บางชนิดไม่มีเกล็ด รูปร่าง ขนาดและพฤติกรรมแตกต่างกันมากมาย พบทั้งในทะเลและแหล่งน้ำจืด" แต่ในทางชีววิทยาแล้ว ปลาหมายถึง สัตว์มีกระดูกสันหลังที่ต้องดำรงชีวิตอยู่ในน้ำจืด น้ำกร่ย หรือ น้ำเค็ม ปลามีหัวใจสองห้อง
ตำราปัจจุบันหลายเล่มกล่าวว่าปลามีหัวใจสี่ห้องโดยนับรวมโคนัสอาร์เตอริโอซัส(บัลบัสอาร์เตอรริโอซัสในพวกฉลามและกระเบน) และ ไซนัสวีโนซัสซึ่งขยายใหญ่เป็นห้อง ลำตัวปกคลุมด้วยเกล็ดเมือกหรือแผ่นกระดูก ปลาหายใจด้วยเหงือก



แม้ว่าปลาบางชนิดสามารถที่จะดัดแปลงอวัยวะบางส่วนมาทำหน้าที่คล้ายปอด ช่วยแลกเปลี่ยนก็าซจากอากาศ ตัวอย่างได้แก่ปลามีปอด ปลาบางชนิดมีอวัยวะพิเศษเหนือเหงือกเพื่อช่วยแลกเปลี่ยนก็าซ เช่น ปลาหมอ ปลาช่อน และ ปลาดุก ตัวอย่างของปลาที่มีรูปร่างแบบปลาตามคำจำกัดความได้แก่ ปลาตะเพียน ปลาเงิน ปลาทอง ปลาหมอ ปลาช่อน ปลาทู ปลากะตัก ปลาซิว ปลาเข็ม ปลาฉลาม



  • สัตว์น้ำอีกหลายชนิดที่เราเรียกนำหน้าว่าปลาแต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ปลา

เช่น ปลาวาฬปลาหมึก ปลาโลมา ปลาดาว ปลาฝา(ตะพาบน้ำ) สัตว์น้ำบางชนิดที่มีรูปร่างไม่คล้ายปลาแต่เป็นปลาอย่างแท้จริง เช่น ปลาไหล ม้าน้ำ ปลาตูหนา ปลาหลด ปลากระเบน เป็นต้น ส่วนมากแล้วปลาจะออกลูกเป็นไข่และมีการผสมพันธุ์ภายนอกร่างกาย( external fertilization) โดยที่ตัวเมียออกไข่ก่อนแล้วตัวผู้จึงจะฉีดน้ำเชื้อ(sperm) เข้าไปผสม แต่ก็ยังมีปลาอีกหลายชนิดที่มีการผสมพันธ์ภายในร่างกาย(internal fertilization ) และออกลูกเป็นตัว เช่น ปลากินยุง ปลาสอด ปลาเข็ม ปลาหางนกยูงเป็นต้น


  • ลักษณะทั่วไปของปลา
ปลาเป็นสัตว์ที่มีความหลากหลายทางด้านรูปร่างและลักษณะ กลวิธีในการสืบพันธุ์ ถิ่นที่อยู่อาศัยพฤติกรรม และวงชีวิต เริ่มต้นตั้งแต่ปลาปากกลม(แลมเพรย์และแฮกฟิช) ซึ่งเป็นปลาที่ไม่มีขากรรไกรและดำรงชีวิตเป็นตัวเบียน(ปรสิต) ปลาโบราณที่มีเกราะหุ้มห่อร่างกาย
ปลาที่มีครีบเป็นพูเนื้อ(lobe-finned fishes) ปลามีปอด ปลาไม่มีเกล็ด ปลาที่มีลำตัวคล้ายงู นักวิชาการบางท่านอ้างว่าถ้าเราต้องการจะศึกษาทางด้านวิวัฒนาการอย่างเดียว เราควรจะหมายถึงปลาที่มีครีบเป็นก้านครีบ (ray-finned fishes)ในกลุ่ม Actinopterygians
เพียงอย่างเดียว

  • ระบบเส้นข้างลำตัว
ปลามีรับความรู้สึกพิเศษต่อการสั่นสะเทือนในน้ำ ความรู้สึกพิเศษนี้ไม่พบในสัตว์เลื้อยคลาน พวกนก และพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อวัยวะที่ทำหน้าที่นี้ได้แก่


ระบบเส้นข้างลำตัว (lateral line system)ที่มีรูเป็นแถวให้น้ำไหลตลอดทาง ด้านข้างของลำตัว
ทำให้ปลาทราบถึงสภาพแวดล้อที่อยู่ใกล้ตัวว่า มีเหยื่อ ศัครูผู้ล่าหรือพวกพ้องเดียวกัน ระบบเส้นข้างลำตัวนี้อาจเปลี่ยนแปลงไปเป็น

ระบบสัมผัสไฟฟ้า (electrical sensory system) ส่งผ่านน้ำซึ่งเป็นตัวนำไฟฟ้าได้ดีที่สุด พวกฉลามจะใช้สัมผัสไฟฟ้านี้สำหรับตรวจจับเหยื่อ
โดยรับความรู้สึกจากกล้ามเนื้อของเหยื่อ ปลาน้ำจืดบางชนิดก็มีความสามารถในการสร้างสนามไฟฟ้าอ่อนๆรอบตัวเพื่อตรวจจับเหยื่อที่ผ่านเข้ามาในสนามพลังของมัน



  • แสงแดดและการรับภาพ
เราอาจไม่คุ้นเคยกับการรับสัมผัสของปลา แต่เราอาจจะคุ้นเคยกับการมองและการรับภาพของปลาหลายชนิด การมองหรือการรับภาพมีความหมายต่อปลามากมายทีเดียว ขีดจำกัดของการรับภาพในปลาก็คือความขุ่น-ใสของน้ำและแสงอาทิตย์ซึ่งจะมีประสิทธิภาพต่อการรับภาพ น้ำจะทำหน้าที่เป็นตัวกรองหรือกระจายแสงที่ส่องผ่านลงมาเมื่อแส่งส่องลงมาตกกระทบกับผิวน้ำ แสงสีแดงจะส่องผ่านลงไปได้น้อยที่สุด เพราะแสงบางส่วนจะสะท้อนกลับไปเมื่อผ่านลงไปในน้ำที่มีชั้นความลึกระดับต่างๆ ในขณะที่แสงสีน้ำเงินจะส่องผ่านลงไปได้ลึกที่สุด ด้วยเหตุดังกล่าวนี้จึงทำให้เราพบปลาที่มีสีแดงสดใสเฉพาะในบริเวณมหาสมุทธระดับลึกเท่านั้น เพราะสีแดงจะทำให้มองเห็นยากในระดับน้ำลึก แต่จะเห็นได้ชัดในระดับน้ำที่ตื้นขึ้นมา

ปลาบางชนิดสร้างอวัยวะเรืองแสง(photophores)ภายในตัว แต่ปลามีหนวด เช่น ปลาดุกที่หากินบริเวณโคลนเลน ซึ่งมีน้ำขุ่นจนแสงส่องผ่านลงไปไม่ได้ กลับไม่รู้สึกเดือดร้อนเพราะปลาดุกสามารถใช้หนวดหลายคู่บริเวณจะงอยปากทำหน้าที่รับความรู้สึกสัมผัสแทน สัมผัสจากหนวดนี้ทำให้ปลาดุกสามารถรับกลิ่นของเหยื่อที่อยู่แหล่งน้ำใกล้เคียงได้

  • การรับเสียง
แม้ว่าจะขัดขวางการเดินทางของแสง แต่น้ำก็เป็นตัวนำเสียงได้ดีทีเดียว ความจริงที่ว่าการเดินทางของเสียงในน้ำมีความเร็วมากกว่าในอากาศถึง 3 เท่า ดังนั้นปลาส่วนใหญ่จะมีอวัยวะรับเสียงที่ดี แม้ว่าปลาจะไม่มีใบหูช่วยรับเสียงให้เห็นอย่างเช่นมนุษย์ เนื่องจากใบหูไม่มีความจำเป็นสำหรับปลา เพราะลำตัวปลาสัมผัสกับน้ำโดยตรง และน้ำก็เป็นตัวนำเสียงมากระทบกับหูได้โดยง่าย ปลามีเพียงหูชั้นกลางและหูชั้นใน หูชั้นกลางที่มีความหนาแน่นมากกว่าหรือน้อยกว่าน้ำ จะทำหน้าที่รับคลื่นเสียงที่ผ่านเข้ามา แล้วส่งผ่านคลื่นเสียงนี้ต่อไปยังหูชั้นในโดยมีการกระทำร่วมกับถุงลมที่บรรจุก๊าซ หรือ โอโตลิธ (otolith) อยู่ภายใน

ปลาส่วนมากผลิตเสียงเพื่อใช้ติดต่อสื่อสารระหว่างพวกพ้องของตนเองโดยเฉพาะในช่วงผสมพันธุ์ ตัวอย่างเช่นเสียงเพลงเรียกคู่ของปลาคางคก(toad fish)อาจมีระดับคลื่นเสียงที่วัดได้ถึงเกือบ 100 เดซิเบล แต่มนุษย์เราก็ไม่ค่อยได้ยินเสียงของปลา ทั้งนี้เพราะคลื่นเสียงผ่านขึ้นมาเหนือน้ำได้ยากนั่นเอง

  • น้ำกับการหาอาหารของปลา
น้ำจะถ่ายทอดคลื่นเสียงได้ดีเพราะน้ำไม่มีความกดสูง คูรสมบัติข้อนี้เป็นผลดีต่อการหาอาหารของปลา ปลาสามารถขยายปากได้กว้างเพื่อบังคับให้น้ำไหลเข้าไปในปากให้มากคล้ายกับการดูดน้ำผ่านหลอดกาแฟ ซึ่งยากต่อการที่เหยื่อที่ผ่านมากับน้ำจะหลุดรอดจากการถูกดูดกลืนไปได้โดยง่าย


ปลาที่ล่าแมลงหรือสัตว์น้ำตัวเล็กๆเป็นอาหารจะใช้วิธีดูดกลืนเหยื่อแบบนี้ น้ำที่ผ่านเข้าไปจะถูกกักกันมิให้ออกมาตามน้ำโดยซี่เหงือกหรือซี่กรอง(gill raK-ers)ที่มีลักษณะยาวยื่นออกมาจากกระดูกเหงือก นอกจากนี้การขยายปากจะช่วยเพิ่มปริมาตรก๊าซในการหายใจ

  • การแลกปลี่ยนก๊าซ
เหงือกปลาทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนในน้ำ ปกติในน้ำปริมาตร 1 ลิตร จะมีออกซิเจนละลายน้ำอยู่น้อยกว่า 8 มิลลิกรัม แต่ในอากาศจะมีออกซิเจนมากถึง 210 มิลลิลิตร/อากาศ 1 ลิตร ปริมาตรความจุออกซิเจนในน้ำจะลดลงเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ในขณะที่ปลาต้องการออกซิเจนมากขึ้นเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น การเน่าสลายของสารอินทรีย์ตามธรรมชาติหรือสารอินทรีย์ที่มนุษย์สร้างขึ้นล้วนแต่เป็นการเ่ร่งให้มีการใช้ออกซิเจนเพิ่มมากขึ้น ปลาจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากออกซิเจนที่ลดลงหรือถูกใช้จนหมดไป แม้ว่าเหงือกจะมีความสามารถในการดึงออกซิเจนในน้ำได้จนเกือบหมดโดยขึ้นกับพื้นที่ผิวของซี่เหงือก และปริมานของเส้นเลือดฝอยที่มารับออกซิเจนบริเวณเหงือก


เหงือกของปลาสามารถกำจัดก๊าซที่เป็นของเสียสำหรับปลา เช่นก๊าซคาร์บอบไดออกไซด์ แอมโมเนีย และความร้อนในเวลาเดียวกับที่ปลารับออกซิเจนจากน้ำ ซึ่งก็อาจทำให้เกิดปัญหาบ้างเพราะช่วงนี้อาจมีสารพิษอื่นที่ละลายในน้ำ เช่น สารปรอท สารตกค้างจากยาฆ่าแมลงปลอมปนเข้ามาในช่วงที่ปลากำลังรับออกซิเจน ซึ่งจะทำให้ปลาตายทันทีที่สารพิษนี้ผ่านเข้ามาทางเหงือก เยื่อบางๆที่กั้นระหว่างเลือดกับน้ำสามารถที่จะกรองเฉพาะสารบางอย่างเท่านั้น ตัวอย่างได้แก่เกลือ ปลาบางชนิดที่อาศัยได้ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม เราเรียกว่าปลาสองน้ำ ปลาทะเลต้องกรองเอาเกลือส่วนเกินออกจากเหงือก ปลาน้ำจืดต้องการเกลือเพิ่มจึงต้องดูดเอาเกลือแร่เข้าไว้เพราะในน้ำจืดมีปริมาณเกลือน้อยมาก

ข้อมูลจากหนังสือมีนวิทยา
โดย คุณสุภาพร สุกสีเหลือง


คลิ้กที่นี่เพื่ออ่านต่อ......

16 ธันวาคม 2551

ปลากือเลาะห์หรือปลาพลวงชมพู



ปลากือเลาะห์หรือปลาพลวงชมพู

เป็นชื่อปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tor douronensis (Cuv & Val) (Smith.1945) อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) วงศ์ย่อย Cyprininae - Cyprinini มีรูปร่างคล้ายปลาเวียนซึ่ง เป็นปลาในวงศ์ย่อยเดียวกัน (Subfamily) แต่ลำตัวเพรียวและเป็นทรงกระบอกมากกว่า ส่วนหัวค่อนข้างมน ริมฝีปากหนา ปากกว้างเล็กน้อย ใต้คางมีติ่งเนื้อสั้น ๆ มีหนวด 2 คู่เห้นชัดเจน ตาอยุ่ค่อนไปทางด้านบนหัว เกล็ดมีขนาดใหญ่ ครีบหลังมีก้านแข็ง 1 อัน ครีบหางเว้าลึก ครีบก้นสั้น ลำตัวด้านบนมีสีคล้ำอมน้ำตาล ด้านข้างลำตัวสีเงินเหลือบชมพูหรือทอง ครีบสีคล้ำ ด้านท้องสีขาว มีขนาดความยาวประมาณ 25 ซ.ม. ใหญ่สุดที่พบ 35 ซ.ม.



ในประเทศไทยพบเฉพาะภาคใต้ตอนล่าง ตั้งแต่แม่น้ำตาปีไปจนถึงมาเลเซีย โดยอาศัยอยู่ในลำธารหรือแม่น้ำที่มีฝั่งเป็นป่าร่มครึ้มรวมถึงบริเวณน้ำตก เป็นปลาที่พบค่อนข้างบ่อย มีรสชาติดี เป็นที่ขึ้นชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน จังหวัดยะลา มีราคาสูง มีชื่อเรียกเป็นภาษายาวีว่า " กือเลาะห์ " หรือ " กือเลาะห์แมเลาะห์ " เป็นต้น


  • ปลากือเลาะห์ หรือ ปลาพลวงชมพู
เป็นปลาที่อยู่ ในตระกูลเดียวกับปลาเวียนและปลาพลวงหิน ในท้องถิ่นภาคใต้ตอนล่างจะเรียกปลา ชนิดนี้ว่า อีแกกือเลาะห์ เนื้อมีรสชาติดี ในปลาขนาดใหญ่สามารถรับประทานได้ทั้งเกล็ด มีแหล่งอาศัยอยู่บริเวณแหล่งน้ำ ไหลต้นแม่น้ำ โดยเฉพาะบริเวณต้นน้ำอ่างเก็บ น้ำเขื่อนบางลาง จ.ยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบปลาชนิดนี้อยู่มาก แต่การรวบ รวมยังไม่สามารถทำได้สะดวก เนื่องเพราะพื้นที่ดังกล่าวจำเป็นต้องเดินทางด้วยเท้าในป่า ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยจากการก่อการร้าย


สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดยะลา ได้ทำการรวบรวมปลาชนิดนี้ไว้จำนวนหนึ่งเพื่อทำการศึกษาชีววิทยาและเพาะขยายพันธุ์


ลักษณะทั่วไปของปลากือเลาะห์ มีลำตัวเรียวยาว แบนข้างเล็กน้อย ปลายจมูก(snout)เป็นโหนก ปากอยู่ด้านล่างรูปเกือกม้า ขากรรไกรบนแข็งแรงและยืดหดได้ ริมฝีปากหนาติดต่อกันทั้งบนและล่าง ที่ริมฝีปากล่างอาจเจริญขึ้นเป็นพูตรงกลาง(Medianlobe) มีหนวด 2 คู่ อยู่เหนือขากรรไกรบน 1 คู่ และที่ริมฝีปากบนก่อนถึงมุมปาก 1คู่ มีเกล็ดที่เส้นข้างลำตัว 21-28 เกล็ด ไม่มีร่องรับความรู้สึกที่หัว มีฟันที่หลอดคอ (Pharyngeal teeth)


ฐานครีบหลังจะเริ่มตรงกับเกล็ดที่ 6-7 บนเส้นข้างลำตัว ก้านครีบหลังที่ 3 ในส่วนที่เป็นกระดูกค่อนข้างแข็ง ครีบก้นตัด(truncate) มีขนาดเล็กกว่าครีบหลัง ครีบหางเป็นง่าม เว้าลึกแหลม ที่รอบคอดหางมีเกล็ด 12 เกล็ด เกล็ดใหญ่สีเงิน ที่ฐานเกล็ดดำและที่ขอบเกล็ดค่อนข้างดำ เกล็ดบริเวณหลังสีเข้มกว่าบริเวณท้อง ที่ครีบจะมีสีแดงส้มปนดำเล็กน้อย



และยังเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีกด้วย

+++++++++++++++++++++++++
  • ปลากือเลาะห์ที่แม่น้ำสายบุรี



แม่น้ำสายบุรี
มีต้นน้ำอยู่ในเทือกเขา สันกาลาคีรีระหว่าง เขาคุลากาโอ กับเขาตาโบ้
ในอำเภอสุคีริน จังหวัดนราธิวาส ไหลขึ้นไปทางเหนือ ผ่านอำเภอศรีสาคร
อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส แล้วไหลผ่าน เข้าไปในเขต อำเภอรามัน
จังหวัดยะลา จนกระทั่งออกสู่ทะเล ที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี มีความ
ยาวตลอดลำน้ำ ประมาณ 186 กิโลเมตร และมีความยาว รวมกับลำน้ำสาขา
1,412 กิโลเมตร ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปี 2,840 ล้านลูกบาศก์เมตร
การใช้ประโยชน์ลำน้ำ โดยส่วนใหญ่ ใช้สำหรับการเกษตร มีเพียงส่วน
น้อยเท่านั้น ที่ใช้ในการ อุตสาหกรรม เช่น บริเวณสุขาภิบาลศรีสาคร



ปลากือเลาะห์เป็นปลาน้ำจืดที่ผู้คนแถว 3 จังหวัดภาคใต้ขนานนามว่าเป็น ราชาแห่งท้องน้ำสายบุรี นับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันก็ยังมิมีปลาชนิดใดมาลบล้างตำแหน่งนี้ไปได้ ปลากือเลาะห์หรือปลาพลวงชมพู(น่าจะเรียกว่าเวียนชมพูมากกว่าเพราะมันจัดอยู่ในกลุ่มปลาเวียน 55+) เป็นปลาที่มีความสง่าสวยงามแถมยังรสชาติถูกลิ้นอีก ปัจจุบัน(2551)ราคาตกที่ กก. 300-400 บาท ขึ้นมาจากปี 2549 ที่ กก. 200-300 บาท และคงจะแพงขึ้นเรื่อยๆเพราะปลาหายากขึ้นทุกที
ปลากือเลาะห์เป็นปลาดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำสายบุรี กระจายไปทั่วทั้ง3 จังหวัดที่แม่น้ำสายบุรีตัดผ่าน ตั้งแต่ อ.สุคิริน มายัง อ.จะแนะ และ อ.ศรีสาคร ไปจนถึงปากน้ำสายบุรี จ.ปัตตานี ซึ่งปลากือเลาะห์ที่พบแถบนี้มีอยู่ 2 ชนิดที่ชาวบ้านเรียกกัน


  • 1.) ปลากือเลาะห์ดอกดาหลา

หรือที่ชาวบ้านเรียก อีแกกือเลาะห์บูงอฆาแต(พลวงชมพู) ลักษณะทั่วไปของชนิดนี้จะคล้ายกับปลาพลวงทั่วไป แต่มีทีเห็นความแตกต่างได้ชัดก็คือ ปากบนจะยื่นยาวออกเรียวๆ และปากด้านบนนี้จะยาวกว่าด้านล่าง โดยจะมีหนวดอยู่ 4 เส้น มุมปากด้านบนข้างละหนึ่งเส้น และมุมปากด้านล่างข้างละหนึ่งเส้น ปลากือเลาะห์เป็นปลาที่มีเกล็ดค่อนข้างใหญ่ สีของลำตัวและเกร็ดจะเป็นสีชมพูเหมือนดอกดาหลา ส่วนหางและครีบจะเป็นสีแดงอ่อน เวลาปลากือเลาะห์ชนิดนี้อยู่ในน้ำจะเห็นสีสรรค์ชัดเจน



สีสรรค์ของปลากือเลาะห์คล้ายๆดอกดาหลา

+++++++++++++++++++++++++



2.) ปลากือเลาะทราย
หรือที่ชาวบ้านเรียกตามภาษาพื้นเมืองว่า อีแกกือเลาะห์ปาเซ ลักษณะทั่วไปคล้ายปลากือเลาะห์ดอกดาหลาแต่ที่แตกต่างก็คือส่วนลำตัวและเกร็ดจะมีสีโทนขาว

+++++++++++++++++++++++++


  • ถิ่นอาศัยของปลากือเลาะห์
เป็นปลาที่พบมากในประเทศมาเลเ้ซียที่มีรอยเชื่อมต่อประเทศไทย พบอาศัยในแมน้ำสายบุรีและสายน้ำต่างๆที่เชื่อมต่อแม่น้ำสายบุรี ขนาดของปลากือเลาะห์สถิติเคยพบมีน้ำหนักประมาณ 15-20 ก.ก. แต่ปัจจุบันจะเฉลี่ยอยู่ที่ 2-10 ก.ก. อาหารของปลาชนิดนี้ก็จะเป็นพวก พืช แมลงและสัตว์เล็ก เช่น ลูกปลา ลูกไม้ต่าง และที่นักตกปลาใช้ก็คือ ไส้เดือน ตั๊กแตน ปลากือเลาะห์เป็นปลาที่มีรสชาติดี มีความหวาน นุ่ม ภายในเนื้อปลา สามารถทำกับข้าวหลายอย่าง แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมต้มตะไคร้ ส่วนน้อยมากที่จะทำอย่างอื่น เพราะการต้มตะไคร้จะทำให้รู้ถึงรสชาติของเนื้อปลาอย่างแท้จริง ปลากือเลาะห์เป็นปลาที่กินได้แม้กระทั่งเกร็ดเหมือนปลากระโห้ บางคนจะต้มเกล็ดพร้อมเนื้อปลา รสชาติของเกล็ดเวลาเคี้ยวจะกรุ้บๆเหมือนกระดูกอ่อนไ่ก่ หรือบางคนก็จะนำเกล็ดมาทอดทำเป็นข้าวเกรียบก็อร่อยอีกแบบครับ



ปัจจุบันปลากือเลาะห์ขนาดเล็กได้เข้าไปอยู่ในตลาดปลาตู้และมีราคาค่อนข้างสูง เพราะสีสันของมันมีความสวยงาม เวลากระทบแสงไฟก็จะมีประกายแวววาว ในช่วงเดือน พ.ย. ถึง ธ.ค. จะเป็นช่วงฤดูฝนระดับน้ำในแม่น้ำสายบุรีจะเอ่อสูงจนล้นตลิ่งน้ำก็จะเปลี่ยนเป็นสีแดงขุ่น เหล่าบรรดาปลากือเลาะห์จะรวมฝูงว่ายทวนน้ำเพื่อหาอาหาร โดยส่วนใหญ่จะมาหาอาหารในบริเวณรอยเชื่อมของน้ำ2สายที่มาบรรจบกันระหว่างคลองสายเล็กเชื่อมกับแม่น้ำสายบุรี ช่วงนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่นักตกปลากือเลาะห์เฝ้ารอ ข้อมูลอาจจะยังไม่สมบูรณ์นะครับใครมีข้อมูลดีๆก็ช่วยชี้แนะด้วยครับ

คลิ้กที่นี่เพื่ออ่านต่อ......

เชิญแวะที่:
thainitaห้นย

จ้าวน้อยฟิชชิ่ง ตกปลาฮาเฮ เร่ไปเพราะใจสั่งมา © 2009. Powered by  MyPagerank.Net