10 ตุลาคม 2552

ปลั๊กเหยื่อปลอมไม่มีวันตาย ( Plug Never Die )

เหยื่อปลั๊ก (Plug)
เหยื่อปลั๊ก (Plug) หรือเหยื่อปลาปลอม อาจไม่ใช่เหยื่อปลอมรุ่นแรกๆที่เข้ามาแหวกว่ายในวงการการตกปลา แต่เป็นเหยื่อที่ได้รับความนิยมจากนักตกปลา และได้รับการปรับปรุงพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเหยื่อปลั๊กมีขอบเขตการใช้งานค่อนข้างกว้างขวาง คือใช้ได้ทั้งงานเหวี่ยงเหยื่อ(ตีเหยื่อปลอม)และลาก(ทรอลลิ่ง) เหยื่อปลาปลอมเกิดจากการค้นพบโดยบังเอิญจากนักตกปลาอาชีพ ได้ทำแท่งไม้ที่กำลังเหลา(เหลาทำอะไรก็ไม่ทราบได้)ตกลงในน้ำ แล้วมีปลาเข้ามาฉวยแท่งไม้นั้น(แหม..คล้ายๆสปูนเลยเนาะที่ทำช้อนหล่นตกน้ำแล้วปลามางับซะ) ก็เลยได้ความคิดเหลาไม้ให้เป็นรูปทรงเลียนแบบปลา และประกอบเบ็ดติดเข้าไป และได้รับการพัฒนาต่อยอดมาเรื่อยๆจนเป็นปลั๊ก(Plug)ที่เราเห็นเกลื่อนกลาดในปัจจุบัน



ส่วนประกอบของเหยื่อปลาปลอมอาจซับซ้อนกว่าเหยื่อปลอมบางชนิด แต่ก็มีส่วนประกอบไม่มากเท่าไร ซึ่งรูปทรงและส่วนประกอบที่สัมพันกันก็จะแยกย่อยเป็นลักษณะประมาณนี้

1.) รูปทรงของตัวเหยื่อจะเลียนแบบปลาเหยื่อในธรรมชาติ มีทั้งลำตัวเรียวยาว และ สั้น ปัจจุบันเหยื่อประเภทนี้ถูกออกแบบต่างกันไป ตามแต่ผู้ผลิตจะออกแบบและคิดได้ จนบางแบบดูไม่เหมือนปลาปลอมทั่วๆไป อาจจะมีลักษณะ สีสรรค์ หรือ แอ็คชั่นที่เหมือนจริงๆมากๆนั่นเอง

http://www.worldseafishing.com/images/1/plugging_5diver.jpg

2.) มีส่วนของลิ้้นหรือลิป (Lip) ที่ใช้บังคับการดำน้ำได้หลายระดับ ซึ่งมีทั้งแบบลิ้นในตัวและลิ้นประกอบนอก(ข้างนอกนะไม่ใช่ต่างประเทศ) วัสดุที่ใช้ทำลิ้นก็มีทั้งพลาสติก และ โลหะ

http://www.bassdozer.com/images/body-popper-bone.jpg

3.) เหยื่อปลอมบางรุ่นมีลูกกลมโลหะ(ลูกปืน) อยู่ข้างใน เพื่อใช้ควบคุมการดำน้ำ(ถ่วงดุลย์นั่นเอง) หรือเพื่อดึงดูดความสนใจจากปลาล่าเหยื่อ ด้วยเสียงที่ดังกระทบกัน มันสั่นสะท้านเข้าไปถึง ประสาทสัมผัสของปลา ทำให้ปลาเกิดอาการห้าวเป้งไล่กัดฟัดเหยื่อแบบบ้าคลั่งนั่นเอง


4.) จำนวนท่อนของเหยื่อ ปัจจุบันมีเหยื่อปลั๊กบางชนิดหรือรุ่น ที่ได้พัฒนาการทำตัวเหยื่อให้เป็นปล้องๆท่อนๆ เพื่อสร้างแอ็คชั่นให้สมจริงมากที่สุด เช่น ตัวเหยื่อแบ่งเป็น 2-3ท่อนต่อกัน เวลาลากตัวเหยื่อจะส่ายไปสา่ยมา ท่อนหางที่ติดด้วยเบ็ดสามทางก็จะส่ายสัมพันกับข้ิิอลำตัวและส่วนหัว ลักษณะจะคล้ายปลาเป็นว่ายจริงๆ แล้วปลาล่าเหยื่อจะไม่สนใจปลาน้อยอ้อนแอ้นตัวนี้ได้เช่นไร


วัสดุที่ใช้ในการผลิตเหยื่อปลั๊ก(Plug )
ตั้งแต่เดิมเริ่มแรกไม่แหกกฎ เจ้าเหยื่อปลาปลอมหรือPlug ผลิตขึ้นมาจากไม้ แต่ในปัจจุบันก็จะมีผลิตจากพวกพลาสติก ซึ่งมีทั้งพลาสติกอ่อน พลาสติกแข็ง หรือแม้กระทั่งเรซิ่นเข้ามาเสริมในกลไกการตลาด แต่ก็ยังมีผู้ผลิตอีกหลายรายยังคงใช้ไม้ในการทำเหยื่อปลั๊กอยู่ ซึ่งจะมีราคาสูงกว่าเหยื่อที่ผลิตจากวัสดุอื่นๆที่ได้กล่าวมา ซึ่งนักตกปลาที่มีความสามารถในด้านช่างก็สามารถทำมาใช้เองได้ไม่ยาก ซึ่งปัจจุบันนักตกปลาไทยเราก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานปลาปลอมหรือปลั๊กกันได้เองบ้างแล้ว ชื่อก็แล้วแต่จะเรียกหรือตั้งกันไปเหยื่อปลาปลอมที่อยูในกลุ่มเสี่ยง เอ้ย! เหวี่ยง(Casting) หรือตีเหยื่อปลอมทั่วไป มีขนาดให้เลือกใช้ตั้งแต่ 3-10(กว่า) ซม.มีรูปแบบการบังคับลิ้นดำน้ำทั้งแบบผิวน้ำ(ใช้ใบพัด เช่น เหยื่อตีเหยื่อปลอมตามเขื่อน) แบบดำตื้นและดำลึก


เหยื่อปลาปลอมที่อยู่ในกลุ่มลากเหยื่อ(Trolling) จะเริ่มจากขนาด 10 ซม.ไปจนถึงเกือบ 30 ซม. และนักตกปลาจะใช้แบบดำลึก

เหยื่อปลั๊ก(Plug )จะประกอบกับตัวเบ็ดสามทาง(Treble Hook) ตั้งแต่ 1-3 ตัว การประกอบตัวเบ็ดกับห่วงที่ตัวเหยื่อจะใช้ห่วงแยกหรือ(Split Ring)เป็นตัวเชื่อมต่อ แต่ถ้านักตกปลาเลือกเบ็ดแบบ 2 ทาง(Double Hook) ก็สามารถคล้องตัวเบ็ดเข้าไปได้เลยโดยไม่ต้องเชื่อมผ่านห่วงแยกแต่อย่างใด
ปัจจุบันเหยื่อปลาปลอมที่ใช้กับงานลากเหยื่อ ถูกออกแบบต่างออกไปจากเดิม แม้จะมีรูปทรงเหมือนปลาเหยื่อมากกว่าปลาปลอมทั่วไป แต่ไม่ได้ใช้ลิ้นในการบังกับการดำน้ำเหมือนเหยื่อปลั๊กทั่วไป แต่อาศัยการเลื่อนตำแหน่งการมัดสายไปอยู่ด้านบนของตัวเหยื่อ ซึ่งจะบังคับให้ปลาปลอมดำลงลึกเองได้
เมื่อเทียบกับเหยื่อปลาปลอมบางชนิดแล้ว เหยื่อปลั๊กอาจมีราคาสูงกว่าบ้าง โดยเฉพาะเหยื่อปลั๊กที่ใช้กับการลากเหยื่อ ทั้งนี้ก็มาจากขนาดและการออกแบบที่แข็งแรงทนทาน เหมาะกับงานหนักๆ





วิธีการใช้เหยื่อปลาปลอม



การใช้งานสำหรับตีเหยื่อปลอมทั่วไป(Casting)

นักตกปลาหลายท่านคงคุ้นเคยกับการใช้เหยื่อปลั๊ก(Plug )ในการ ตีปลา ช่อน ชะโด หรือ กระสูบ กันมาแล้ว ซึ่งเหยื่ออาจจะเริ่มจาก ขนาดเล็กสุด 3-5 ซม. ไล่ไปจนถึง 10 ซม. เหยื่อปลั๊กที่เลือกใช้ก็แล้วแต่สภาวะแวดล้อม น้ำตื้น น้ำลึก หมายมีอุปสรรคเช่นไร ไล่ไปจนถึงการตีปลาจิบ ว่าเป็นปลา อะไร ใช้เหยื่อแบบไหน การใช้เหยื่อจึงต้องคำนึงถึงองค์ประกอบหลายๆอย่าง แต่มันก็ไม่ยากในการทำความเข้าใจ และ พยายาม
การประกอบชุดหลีดเดอร์กับเหยื่อปลั๊ก ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัวอะไร เท่าที่นิยมกันมักจะเลือกใช้สายหลีดเดอร์ที่มีแรงดึงมากกว่าสายเบ็ดที่ใช้อยู่ 1-2 เท่า เช่น สายเบ็ด 20 ปอนด์ ก็ใช้สายหลีดประมาณ 40-60 ปอนด์ สายหลีดเดอร์ก็จะเป็นพวก สายเอ็นไนล่อนพวกชอ็คหลีดเดอร์ (Shock leader) สายลวดหุ้มไนล่อน ความยาว 60-90 ซ.ม.


ถ้าเลือกใช้สายเอ็นไนล่อน การเชื่อมต่อกับกับเหยื่อก็ใช้การผูกเงื่อนธรรมดาทั่วไป มัดกับห่วงที่ตัวเหยื่อโดยตรง ไม่จำเป็นต้องใช้คลิบ หรือสแนป(Snap)ก็ได้ แต่ถ้าท่านจำเป็นต้องเปลี่ยนเหยื่อบ่อยๆก็ทำห่วงดับเบิ้ลไลน์(Double Line) สั้นๆ ที่ปลายสายหลีดเดอร์ แล้วนำไปคล้องกับตัวเหยื่อก็ได้ บางท่านอาจใช้ลูกหมุนคลิปเชื่อมก็ย่อมได้เช่นกัน ถ้าเลือกใช้สายลวดหุ้มด้วยไนล่อน การเชื่อมกับเหยื่อ จำเป็นต้องประกอบชุดหลีดเดอร์ให้ปลายสายด้านหนึ่งเป็นห่วงหรือลูกหมุน (เชื่อมสายเบ็ด) และอีกด้านประกอบกับคลิปหรือลูกหมุนคลิป เพื่อใช้คล้องกับห่วงของเหยื่อปลั๊ก

เทคนิคการตีเหยื่อปลอม
เทคนิคการตีหรือเหวี่ยงเหยื่อปลั๊กก็ไม่ต่างจากการเหวี่ยงเหยื่อชนิดอื่น คือจะมีทั้งการเหวี่ยงแบบข้ามศรีษะซึ่งจะได้ความแม่นยำ แบบเหวี่ยงทางด้านข้าง ทั้งซ้ายและขวา(อันนี้ต้องเทพหน่อย) การดีดเหยื่อออกไปยังตำแหน่งที่ต้องการ กรณีมีสิ่งกีดขวางอยู่รอบด้าน เช่น ตกปลาอยู่ใต้ต้นไม้ที่มีกิ่งระลงมากีดขวาง โดยการจับเบ็ดสามทางตัวสุดท้ายดึงสายเบ็ดให้คั้นโค้งเหมือนธนูเพื่อเป็นแรงดีดส่งเหยื่อให้พุ่งหลาวออกไป หรือแม้กระทั่งการหมุนควงสว่านเหยื่อเพื่อเพิ่มแรงส่ง ซึ่งอาจมองว่าเป็นไปไม่ได้ แต่สำหรับนักตีเหยื่อปลอมที่ช่ำชองระดับเทพแล้วสามารถทำได้จริง(อันนี้ผมเห็นมากับตาแล้วไม่น่าเชื่อ) การเหวี่ยงเหยื่อให้ได้ระยะ แม่นยำ ไม่ยากเกินความสามารถของนักตกปลา เพียงแค่มีใจรัก ตั้งมั่น ขยัน อดทน ตีไปเรื่อยๆ สร้างความคุ้นเคยให้กับร่างกาย สมองก็จะคอยจดจำบันทึกลักษณะตรรกศาสตร์จนเราสามารถดึงออกมาใช้ได้อย่างช่ำชอง แม่นยำ อย่างนักตีเหยื่อปลอมขั้นเทพที่เราบูชา


แอ็คชั่น
เมื่อเหยื่อปลอมถูกตีออกไป นักตกปลาก็จะม้วนเก็บสายเบ็ดเข้ามา เหยื่อปลั๊กก็จะสร้างแอ็คชั่น หรือการส่ายสะโพกโยกยา้ยเลียนแบบปลาจริงในธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องกระตุกคันช่วยเหมือนเหยื่อป๊อบเปอร์ แต่ก็อาจมีบ้างสำหรับเหยื่อผิวน้ำพวกกบกระโดดทั้งหลาย ซึ่งความเร็วหรือช้าในการหมุนรอก ก็แล้วแต่ความเหมาะสม เพราะถ้าเป็นพวกปลั๊กดำน้ำถ้าหมุนเร็วมันก็จะยิ่งลงลึกไปขุดดินหาปลาไหล นักตกปลาจึงควรทดลองใช้ให้เหมาะในเหยื่อแต่ละชนิดแต่ละแบบ ซึ่งถ้าได้ลองตีเหยื่อแต่ละแบบ แบบละหลายๆครั้งก็จะยิ่งทำให้เราสามารถแยกความแตกต่าง และนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
___________________________

ขอบคุณที่มาของข้อมูล

นิตยสารเย่อกับปลา
รูปจาก กูเกิ้ล ,สยามฟิชชิ่ง
___________________________

9 ความคิดเห็น:

  1. ได้ความรู้เพียบเลยครับ สุดยอดจริงๆ

    ตอบลบ
  2. สวัสดีจารย์ก๋วยครับ ข้อมูลก็ดัดแปลงมาจากหนังสือเย่อกับปลาครับ ขอบคุณสำหรับกำลังใจครับผม ผมเป็นสมาชิกเว็บจารย์ก๋วยด้วยนะครับ เอาลิ้งค์เว็บจารย์ก๋วยไว้ในลิงค์เว็ปตกปลาด้านข้างแล้วนะครับ แต่ยังไม่กล้าส่งโลโก้บล็อกตัวเองไปให้เลย อายอิอิ ไว้ผมทำดีกว่านี้ค่อยไปขอแลกนะครับ ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
  3. กำ เข้าไปดูอีกทีมีละ ขอบพระคุณจารย์ก๋วยมากเลยครับ ขอให้รวยๆครับ

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ12 เมษายน 2553 เวลา 19:27

    สุดยอด

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ31 พฤษภาคม 2553 เวลา 11:40

    ปลาพวกนี้สวยมาก

    ตอบลบ
  6. ไม่ระบุชื่อ31 พฤษภาคม 2553 เวลา 11:48

    อยากรู้มากกว่านี้

    ตอบลบ
  7. สุดยอดครับ เจ้าของเว็ปเขียนบทความได้ดีมากเลย
    เมื่อมีรูปภาพประกอบเยอะ ก็ทำให้เข้าใจง่ายขึ้นไปอีก
    ขอบคุณสำหรับความรู้ใหม่ๆครับ

    ตอบลบ
  8. ขอบคุณมากครับ ดีใจที่มีคนชอบครับ ^______^

    ตอบลบ

.ขอบคุณที่แวะเข้ามาครับ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

เชิญแวะที่:
thainitaห้นย

จ้าวน้อยฟิชชิ่ง ตกปลาฮาเฮ เร่ไปเพราะใจสั่งมา © 2009. Powered by  MyPagerank.Net